Triumph Bonneville “The Brutal Beauty” Bobber
“Bobber” แท้จริงแล้วนับได้ว่าเป็นการตกแต่ง มอเตอร์ไซค์ที่เริ่มพบเห็นได้ตั้งแต่ในช่วงปี 1930-1990 โดยเริ่มต้นเรียกกันว่า “Bob-Job” (อย่าอ่านผิด !!) ซึ่งเป็นลักษณะของการตกแต่งมอเตอร์ไซค์แบบนึงที่ “ตัดทุกอย่าง” ที่ไม่จำเป็นออกไปรวมไปถึงพาร์ทตกแต่งต่างๆ เช่นบังโคลนหน้า บังโคลนท้ายเองก็มักจะถูกตัดให้สั้น รวมไปถึงเบาะ หรือการตกแต่งต่างๆ ที่ให้ลักษณะของรถที่ “ดิบ” และมีเพียงสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น ก่อนจะเติบโตมาต่อเนื่องจนช่วงยุคปี 1990
Triumph Bobber เองจึงได้ถือกำเนิดขึ้นมาโดยใช้พื้นฐานเครื่องยนต์ร่วมกันกับ Bonneville T120 ที่ทรงพลังขนาด 1200 cc แบบ High Torque มาปรับแต่งให้ได้อารมณ์ “เถื่อน” เต็มที่กับคาแรคเตอร์ความดิบในแบบฉบับของ Bobber พร้อมด้วยการออกแบบเฟรมใหม่ ผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน “อย่างลงตัว”
ซึ่งในครั้งนี้ต้องขอขอบคุณ Triumph Motorcycles ที่ให้เกียรติกับผมได้เป็นส่วนนึงในการขับขี่งานศิลป์ของการ Custom รถมอเตอร์ไซค์คันนึงจาก Triumph ที่ผสมผสานกับศาสตร์ของการขับขี่อย่างลงตัว เช่น Triumph Bobber คันนี้ โดยเส้นทางในครั้งนี้จะเป็นการเดินทางไม่ใกล้ ไม่ไกลนัก โดยเริ่มต้นจาก กรุงเทพ ไปถึงเขาใหญ่ เพื่อให้ได้พา Bobber ไปสัมผัสกับทุกอารมณ์ของการขับขี่บนถนนหนทางของบ้านเราอย่างแท้จริง
เพื่อความกระชับในรีวิวนี้จะแบ่งออกเป็นหัวข้อหลักๆตามนี้เลย
- รูปลักษณ์ทั่วไป
- รายละเอียดทางเทคนิคที่น่าสนใจ
- สัดส่วนคน และรถ
- การขับขี่ในสภาพถนนต่างๆ
- อัตราสิ้นเปลือง
- ข้อดี/ข้อเสีย/ข้อสังเกต
- สรุป
รูปลักษณ์ทั่วไป
Bobber คันนี้นับได้ว่าเป็นรถที่ได้รับการตกแต่งออกมาจากโรงงาน ที่มาพร้อมจุดเด่นมากมายไม่ว่าจะเป็น เบาะนั่งแบบมาคนเดียว แฮนด์บาร์ที่กว้าง ล้อแบบซี่ลวด พร้อมยางหลังขนาดใหญ่ และที่ขาดไม่ได้คือ รูปลักษณ์ในแบบ Hard tail (หลังแข็ง) ที่ซุกซ่อนเอากันสะเทือนหลังแบบเดี่ยว (รูปบนซ้าย) วางซ่อนไว้ด้านใน รวมไปถึงตัวเบาะยังสามารถปรับตำแหน่งให้เหมาะสมกับสรีระของผู้ขับขี่ได้อีกขั้นนึง (ใกล้/ไกล หรือขึ้น/ลง จากตัวถังน้ำมัน)
Bobber มาพร้อมกับเส้นสายของท่อไอเสียที่เดินคู่ออกทั้งสองด้าน ให้ความลงตัวในทุกมิติ พร้อมด้วยแคทตาไลติก ที่ซ่อนไว้ใต้เครื่องยนต์แบบเนียนๆ ก่อนจะออกที่ปลายท่อไอเสียทรง Peashooter ที่ให้ซุ่มเสียงที่ “เร้าใจ” ทุกครั้งที่เปิดคันเร่ง
ประกับไฟทั้งด้านซ้าย และด้านขวา ให้การจัดวางที่เรียบง่าย (มีแค่นี้เลยจริงๆ) แต่เดี๋ยวก่อนเพราะในความเรียบง่ายของประกับไฟ และเรือนไมล์เล็กๆนั้น “ยัดแน่น” ด้วยมาตรวัดที่หลากหลาย โดยเข้าถึงได้ด้วยปุ่ม “i” เพียงปุ่มเดียวเท่านั้น เรียกได้ว่าคิดอะไรไม่ออกนึกถึง “i” ไว้ก่อนเลย
โดยหน้าจอ LCD เล็กๆนี้สามารถแสดงข้อมูลของ ระยะทางที่วิ่งมา, ตำแหน่งเกียร์, มาตรวัดน้ำมัน, ระยะทางที่วิ่งได้ต่อน้ำมันที่เหลืออยู่, ไฟเตือนบอกระยะเข้าเซอร์วิส, นาฬิกา, Trip A/B, อัตราสิ้นเปลือง, ไฟแสดงสถานะของ Traction Control พร้อมด้วยสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมอย่าง Cruise control และ heated grip
ส่วนประกับไฟทางด้านขวามากับปุ่มควบคุมโหมดของตัวรถซึ่งมากับโหมดการขับขี่ 2 โหมดด้วยกันคือ Rain และ Road ที่ช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถเลือกการตอบสนองที่เหมาะสมกับสภาพถนนได้ตามต้องการ
รายละเอียดทางเทคนิคที่น่าสนใจ
ตำแหน่งของเบ้ากุญแจอยู่ตรงนี้น้า
พื้นฐานเครื่องยนต์ของ Triumph Bobber นั้นยกมาจากตัว T120 ซึ่งเป็นเครื่องขนาด 1200cc แบบ High Torque ที่ให้แรงบิดที่จัดจ้าน พร้อมด้วยการปรับแต่งให้ได้แรงบิดที่มากขึ้นอีกขั้นนึง ซึ่งให้อารมณ์ของรถในแนว Bobber อย่างเต็มที่ พร้อมด้วยการขยายระยะเซอร์วิสออกไปถึง 16,000 km ที่ทำให้ลดค่าบำรุงรักษาไปได้อีกมากเลยทีเดียว
สัดส่วนคน และรถ
นับได้ว่าคงมีรถมอเตอร์ไซค์เพียงไม่กี่คันที่ผมเอง ผู้มากับสรีระ 163 cm ในแนวตั้ง สามารถใช้ขาทั้งสองข้าง ลงได้แบบ “เต็มเท้า” สบายๆ (เรียกว่า ความรู้สึกแบบนี้สินะการลงเต็มเท้าที่ไม่ได้สัมผัสมานาน) สบายๆเลยหล่ะครับ ใครที่สูงกว่านี้บอกเลย “เก้งก้าง” !!! (ทีใครทีมัน บอกเลย)
ทั้งนี้ตัวเบาะสามารถปรับให้เหมาะสมกับสรีระได้อีกขั้นนึงนะครับแต่สำหรับผมนั้นเหรอ ต่ำสุดใกล้สุดเลยจัดไป !
การขับขี่ในสภาพถนนต่างๆ #การจราจรที่แสนติดขัด
ด้วยเส้นทางที่ได้มีโอกาสขับขี่ Bobber คันนี้ทำให้ผมเองได้พาเค้า “ฝ่า” การจราจรที่แสนติดขัดของเส้นวิภาวดี-รังสิตในช่วงเย็น ให้ได้โยก ได้หลบ ได้จอดนิ่ง สลับคลานกันไปเรื่อยๆตามจังหวะของการจราจร ซึ่งก็ทำให้ได้ใช้ “ความคล่องตัว” ของ Bobber อย่างเต็มที่
แม้ว่า Triumph Bobber จะมากับน้ำหนักตัวถึง 228 kg พร้อมด้วยการจัดวางน้ำหนักที่ให้ศูนย์ถ่วงต่ำ แต่ด้วยการออกแบบของระยะฐานล้อ ตำแหน่งแฮนด์ และองศาของโช้คหน้าที่ลงตัว ทำให้การขับขี่ฝ่าการจราจรทำได้อย่างคล่องแคล่วเลยทีเดียว จะมีติดขัดได้นิดหน่อยด้วยตำแหน่งของตัวกระจกปลายแฮนด์เอง แต่ก็ไม่ได้ลำบากอะไรครับ ด้วยตัวรถที่มีเบาะนั่งต่ำ ทำให้ผมเองก็โยกรถหลบไปมาได้แบบสบายๆเลยทีเดียว
สิ่งนึงที่ทำให้แปลกใจคือการวางน้ำหนัก และการขับขี่ รวมไปถึงการ “เบรค” อย่างหนักของ Triumph Bobber คันนี้ เพราะด้วยรูปลักษณ์ของตัวรถที่น่าจะใช้เบรคหน้าได้น้อย แต่ในความเป็นจริงนั้น “ผิดคาด” เพราะการลงน้ำหนักเบรคแบบเต็มๆทั้งหลัง-หน้า ตัวรถให้เสถียรภาพที่ดี และมีการยุบของช่วงล่างทั้งหน้า-หลัง ที่สัมพันธ์กันอย่างพอดีสำหรับสรีระผมที่น้ำหนัก 65 kg เรียกได้ว่าไม่ต่างจากรถถนนทั่วไปเลยหล่ะครับ ขัดกับรูปลักษณ์ของรถ Custom ไปเลยทีเดียว
ด้วยตำแหน่งเบาะนั่งที่ค่อนข้างต่ำแม้กระทั่งผมเองที่ 163 cm ยังสามารถลงเท้าได้เต็มๆ ซึ่งหมายความว่าทัศนวิสัยของผู้ขับขี่จะไม่ได้อยู่สูง และมองเห็นได้ไกลแบบรถที่ตำแหน่งเบาะสูงปกตินะครับ ยิ่งมากับอัตราเร่งขนาดนี้ … มองเผื่อทุกครั้งน้าก่อนจะเปิดคันเร่งออกไป ใช้ความเร็วให้เหมาะสมกับเส้นทาง การจราจร และทัศนวิสัยกันด้วยน้า
ขุมพลังขนาด 1200 cc ที่ส่งแรงบิดออกมาตั้งแต่รอบต่ำๆ ทำให้การเปิด-ปิดคันเร่งตามจังหวะของการจราจรทำได้ง่าย เรียกว่าเปิดเพื่อเร่ง ปิดเพื่อชะลอได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องพะวงเรื่องการใช้เบรคมากเกินไป
โหมดที่แนะนำ
Road สำหรับการใช้งานทั่วไป
Rain สำหรับช่วงฝนตก หรือถนนลื่น
Traction Control เปิดไว้เถอะครับ แรงบิดขนาดนี้ช่วยได้เยอะเลย
การขับขี่ในสภาพถนนต่างๆ #ทางโค้ง ทางเขา
แม้ว่าด้วยรูปลักษณ์ของ Triumph Bobber จะดูเหมือนเข้าโค้งได้น้อย (แบนได้น้อย) แต่จริงๆแล้วก็เหลือเฟือแล้วหล่ะครับ สำหรับการใช้งานทั่วไป ถ้าไม่ได้ไปเข้าโค้งแบบสนามแข่งที่ไหน ด้วยตำแหน่งของพักเท้าที่ยกขึ้นมาค่อนข้างสูง ถ้าเทียบกับรถในลักษณะนี้
แม้ว่าแรงบิดที่ส่งมาจะหนักแน่น แต่ยังคงให้การตอบสนองที่นุ่มนวล และพอกับการใช้งานในการขึ้นลงทางเขาทางชันต่างๆ การเดินคันเร่งที่เกียร์ 1-2 แทบไม่มีอาการกระชาก หรือปั่นล้อทิ้งให้ผู้ขับขี่เหวอ หรือถ้าเปิดคันเร่งเยอะเกินไป Traction Control ยังช่วยรักษาอาการปั่นของรถได้ค่อนข้างละเอียดเลยทีเดียว
หรือจะเป็นการเข้าโค้งต่อเนื่องให้เราได้แบนรถเข้าไปเรื่อยๆ ก็ยังคงให้เสถียรภาพที่ดี แม้กระทั่งพักเท้า และคอท่อไอเสียแอบไปสัมผัส (ขูด) กับพื้นถนนเบาๆแล้วก็ตาม ตัวรถยังคงไม่มีอาการอะไร ตามติดกับถนน และเส้นทางไปได้แบบไม่เสียอาการ เรียกได้ว่าเป็นรถคันนึงที่ทำให้ผมเองสบายใจ และมั่นใจกับการขับขี่ที่มาพร้อมเสถียรภาพที่ลงตัวมากคันนึง
คลัทช์แบบ Torque-Assist Clutch ให้สัมผัสที่นุ่มมือ และช่วยรักษาอาการดิ้น เมื่อเราลงเกียร์หนักๆต่อเนื่องได้เป็นอย่างดี การพลิกรถเข้าโค้งต่อเนื่องซ้าย-ขวา ทำได้ง่ายจนน่าแปลกใจคือใช้การกดพักเท้า หรือ Counter steering (ผลักแฮนด์ด้านตรงข้ามกับทิศทางที่จะเลี้ยว) ก็เพียงพอแล้วที่พา Bobber คันนี้พลิกโค้งต่อเนื่องไปได้อย่างง่ายดาย
โหมดที่แนะนำ
Road สำหรับการใช้งานทั่วไป
Rain สำหรับช่วงฝนตก หรือถนนลื่น
Traction Control เปิดไว้เถอะครับ แรงบิดขนาดนี้ช่วยได้เยอะเลย
การขับขี่ในสภาพถนนต่างๆ #เส้นทางหลัก
บนสภาพเส้นทางหลักกับการเดินทางด้วยความเร็วยืนพื้นที่ 100-120 km/hr นับได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ “อิ่มเอม” ไปกับ Triumph Bobber ได้เป็นอย่างดี อารมณ์ของการขับขี่ “มาเต็ม” เสถียรภาพของรถบนเส้นทางหลักที่โดดเด่น แรงบิดที่ส่งออกมาชวนให้รู้สึกสนุกทุกครั้งที่เริ่มเร่งแซง หรือเปิดคันเร่งออกไป
ช่วงล่างที่มากับการตั้งค่ามาตรฐาน ให้การตอบสนองกับสภาพเส้นทางหลักได้เป็นอย่างดี ให้การตามติดของช่วงล่างกับสภาพถนนต่างๆได้อย่างลงตัว จะมีบ้างก็เวลาเจอคอสะพานชันของบ้านเราเนี่ยแหล่ะครับ กระเด้ง กระดอน ได้เหมือนกันน้าาา แต่ๆๆ เสถียรภาพของรถที่ดีมาก ทำให้แทบไม่มีอาการสะบัดส่งมาถึงผู้ขับขี่ ถึงมีก็น้อยมากๆ แม้ว่าจะเผลอทะยานขึ้นคอสะพานไปบ้างก็ตาม (เรียกว่า ลอย !)
ลมแรงมั้ย? คือรถในลักษณะที่ท่านั่งต่ำ พร้อมเรือนไมล์อยู่ต่ำแบบนี้ “แรงครับ” แหม่ ไม่ต่างจากรถ Naked ทั่วไปเท่าไหร่เลยหล่ะ ใช้ความเร็วเดินทางที่เหมาะสม ขับขี่ชมวิวทิวทัศน์ และเสพย์กับอารมณ์ของการขับขี่ที่ส่งออกมาจาก Triumph Bobber คันนี้กันดีกว่า
โหมดที่แนะนำ
Road สำหรับการใช้งานทั่วไป
Traction Control เปิดไว้เถอะครับ แรงบิดขนาดนี้ช่วยได้เยอะเลย
อัตราสิ้นเปลือง
สำหรับมอเตอร์ไซค์จาก Triumph แทบทุกคันที่ผมมีโอกาสได้สัมผัสมานั้น ต้องบอกว่าเป็นแบรนด์นึงที่ทำรถมอเตอร์ไซค์ได้ “ประหยัด” และใช้น้ำมันเชื้อเพลิงน้อยกว่าที่คาดไว้แทบทุกรุ่นเลยทีเดียว สำหรับ Bobber เองก็เป็น 1 ในทั้งหมดนั้น โดยทำอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยสำหรับน้ำมันทั้ง 2 ถังที่ได้จับไว้อยู่ที่ 20.71 km/litre เลยทีเดียว สำหรับเครื่องยนต์ในพิกัดขนาด 1200 cc ที่บรรจุลงมาบน Triumph Bobber คันนี้
ข้อดี / ข้อเสีย / ข้อสังเกต
ข้อดี
- Custom จบจากโรงงาน ที่มาพร้อมคาแรคเตอร์ในการขับขี่ที่ลงตัวจาก Triumph
- ล้อแบบซี่ลวดที่นอกจากเสริมลุคให้กับตัวรถแล้ว ยังช่วงผ่อนภาระในการซับแรงให้กับช่วงล่าง ที่มีระยะยุบน้อยได้อีกขั้น
- การออกแบบที่เรียบง่าย แต่ซุกซ่อนอุปกรณ์ภายในต่างๆอย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นช่วงท้ายแบบ Hard tail ที่ซ่อนโช้คหลังไว้เนียนๆ หรือจะเป็นหม้อน้ำบางๆที่หลบอยู่ขนานไปกับเฟรม รวมไปถึงแคทตาไลติกที่วางกลางหลบใต้ท้องรถพอดิบพอดี
- เบาะนั่งปรับตำแหน่งให้เหมาะสมกับสรีระผู้ขับขี่ได้หลากหลาย
- มาพร้อม Traction Control และ ABS ที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ให้กับผู้ขับขี่ได้อีกขั้น
- รายละเอียดต่างๆของตัวรถที่ลงตัว เช่นการเสริมขาพักเท้าให้มีเดือยยื่นยาวออกมาทำให้เตะขาตั้งได้ง่ายขึ้น
- ประหยัดน้ำมัน แม้ว่าจะมากับถังน้ำมันขนาดเล็กเพียง 9.1 litre แต่ด้วยอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยที่ทำได้ถึง 20 km/litre ก็นับได้ว่าใช้งานเดินทางได้สบายๆเลยทีเดียว
ข้อเสีย / ข้อสังเกต
- แรงบิดที่รุนแรง ต้องมาพร้อมกับการใช้งานคลัทช์ที่เหมาะสมนะครับ ถ้าใครไปเลีย หรือเล่นกับคลัทช์มากๆหล่ะก็ … มีอาการได้ง่ายๆเลยหล่ะ เกิดไหม้ หรือลื่นขึ้นมา แล้วจะหาว่าไม่เตือนน้า
- มาคนเดียว เบาะคนซ้อนถ้าติดต้องเสริมช่วงบังโคลนหลังซึ่งบอกเลยว่า ไม่สบาย และอันตรายแน่ๆ
- ด้วยแรงบิดที่ส่งมาหนักๆ ให้อาการสะเทือนมาได้บ้างจนถึงกระจกมองข้างที่สั่นๆได้นิดหน่อย แต่นับว่าน้อยมากแล้วหล่ะครับ สำหรับความจุขนาดนี้
- ค่าลมยางมาตรฐานสำหรับน้ำหนักตัวผมรู้สึกจะมากไปนิดนึง ช่วงเข้าโค้งลึกๆต่อเนื่องอาจจะมีอาการเหมือนกำลังจะลื่นได้นิดๆ ทั้งนี้หลังจากลดลมยางลงทั้งหน้า และหลังประมาณ 4 psi รู้สึกมั่นใจขึ้นนะครับ
น่าจะเหมาะกับ
Triumph Bobber คันนี้น่าจะเหมาะกับ
- เพื่อนๆที่หลงใหลในรูปลักษณ์ของรถในแนว Bobber ที่โดดเด่น บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของตัวเองอย่างลงตัวได้เป็นอย่างดี
- แม้ว่าจะดูเหมือนเป็นรถที่ขับขี่หล่อๆ แต่จริงๆแล้ว Bobber ผสานการขับขี่ที่ ครอบคลุม ได้ทุกรูปแบบของการใช้งานบนทางเรียบของบ้านเรา
- ขับขี่ในช่วงวันหยุด ใกล้ๆ ในเมือง Bobber คันนี้โดดเด่นมากเลยทีเดียวสำหรับการบ่งบอกถึงรสนิยมของผู้ขับขี่
สรุป
Triumph Bobber เรียกเสียงฮือฮาได้จากการเปิดตัวจริงกันภายในงาน EICMA 2016 ที่ผ่านมา ด้วยรูปลักษณ์ที่โดดเด่น ผสานกับเทคโนโลยีต่างๆที่ซุกซ่อนมาอย่างลงตัว กับพื้นฐานเครื่องยนต์ขนาด 1200 CC จาก T120 ที่ได้รับการปรับแต่งให้ได้คาแรคเตอร์ของ Bobber มากขึ้นมากับแรงบิดที่ส่งออกมาเต็มตั้งแต่รอบต่ำ ให้การตอบสนองในการขับขี่ที่ ดุดัน และสนุกสนานกับการเปิดคันเร่งมากขึ้น แต่ยังคงการขับขี่ที่นุ่มนวลตามสไตล์ของ Triumph ไว้อย่างครบครัน
มิติ และเส้นสายต่างๆของตัวรถให้ความรู้สึกที่ลงตัว พร้อมด้วยช่วงท้ายที่ให้ภาพของ Hard tail แต่ซ่อนด้วยกันสะเทือนไว้ด้านล่างเบาะของผู้ขับขี่อย่างแนบเนียน ที่ทำให้ผู้ขับขี่สามารถสัมผัสถึงสุนทรีภาพในการขับขี่ที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง ผสานด้วยซุ้มเสียงของท่อที่ปรับแต่งมาโดยเฉพาะสำหรับ Bobber ให้อารมณ์ของความดุดันที่ชัดเจนมากขึ้นไปอีกขั้น
การขับขี่ไปบน Bobber คันนี้นับได้ว่าทำได้ดีอย่างน่าประหลาดใจ ด้วยสรีระของตัวรถที่ให้ศูนย์ถ่วงต่ำ และท่านั่งในแบบเกือบๆจะ Cruiser แต่ยังคงให้การตอบสนองกับเส้นทางที่หลากหลายได้อย่างคล่องแคล่วมากเลยทีเดียว การพลิกรถเข้าโค้งต่อเนื่องทำได้ค่อนข้างง่าย และให้เสถียรภาพของการเดินคันเร่งในโค้งที่ดี
การเดินทางบนเส้นทางหลักยืนพื้นที่ความเร็ว 100-120 km/hr สลับกับการเร่งแซงในบางจังหวะทำได้แบบสบายๆ ด้วยกำลัง และแรงบิดที่พร้อมจะส่งให้ Bobber ทะยานออกไปได้แทบทุกช่วงรอบของการขับขี่อย่างง่ายดาย และยังมาพร้อมกับระบบความปลอดภัยอย่าง Traction Control และ ABS ที่ใช้งานได้จริง และเหมาะสมกับ Bobber คันนี้
Torque Assists Clutch บน Triumph Bobber ให้การใช้งานที่นุ่มมือ และลดอาการปั่นล้อหลังไม่สัมพันธ์กันเวลาลดเกียร์เร็วๆ (ล้อหลังล็อค) ได้เป็นอย่างดีซึ่งจะรู้สึกได้ถึงอาการดีดที่ปลายคลัทช์เบาๆเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตาม “แรงบิด” ที่ปรับมาของรถแบบหนักๆ “ต้องใช้คลัทช์ให้เหมาะสมกับรอบนะครับ” ถ้าใครรีดคลัทช์เปิดคันเร่งแรงๆหล่ะ … นิดเดียวไหม้แน่นอน!
โดยรวมแล้ว Triumph สร้าง Bobber คันนี้ออกมาได้ในแบบที่ผมเรียกว่า “ดิบ” จากการออกแบบของตัวรถ “เถื่อน” ด้วยขุมพลังที่ล้นเหลือพร้อมทะยาน แต่คงไว้ซึ่งความ “ลงตัว” ของการขับขี่ในแบบฉบับของ Triumph อย่างครบถ้วน
>>https://www.facebook.com/TriumphMotorcyclesThailand<<
ขอบคุณทุกการสนับสนุนจาก
Koala Rider – A Rider Super Market เกษตร-นวมินทร์
40 Garage ร้านคุณภาพสำหรับมอเตอร์ไซค์ของเพื่อนๆ
facebook : https://www.facebook.com/40garage
ขอขอบคุณ Dirtshop ที่เอื้อเฟื้อรองเท้า XPD ให้เราใช้ในการเดินทางจริง !
ติดตามกับผลิตภัณท์คุณภาพจาก Spidi Official Thailand ได้ที่นี่เลย
Comments