“The Cafe Racer Reborn”
Cafe Racer นับได้ว่าเป็นการตกแต่งมอเตอร์ไซค์รูปแบบนึงที่มีต้นกำเนิดตั้งแต่ราวๆปี 1960 ด้วยแนวทางการแต่งรถที่เน้นไปที่ความเร็วล้วนๆ เพื่อการขับขี่แข่งขันกันบนถนน ของเหล่าวัยรุ่นทั้งหลายในประเทศอังกฤษ จวบจนเกิดเป็นกระแสของการตกแต่งรถที่มีเอกลักษณ์ออกมา ไม่ว่าจะเป็น การใช้แฮนด์จับโช็คใต้แผงคอ ปาดถังน้ำมันให้เว้าบาง การลดชิ้นส่วนที่ไม่จำเป็นเพื่อลดน้ำหนักของรถลง การปรับแต่งเครื่องยนต์ เพื่อให้ได้ความเร็วที่สูงสุดบนรถที่มีชิ้นส่วนเท่าที่จำเป็น ซึ่ง Triumph Thruxton ก็คือหนึ่งในนั้น
โดยในคลาส Bonneville หรือ Classic ของทาง Triumph นั้นเปิดตัวในบ้านเราไปแล้วอย่างเป็นทางการทั้งหมด 5 รุ่นด้วยกันตามนี้เลยครับ
- Triumph Bonneville T120 / T120 Black ที่คงเอกลักษณ์ที่ข้ามผ่านกาลเวลาไว้อย่างครบครัน
- Triumph Thruxton / Thruxton R กับการจุติมากำเนิดใหม่ของตำนานแห่งเจ้าถนน ที่เราจะมาหวดกันในวันนี้
- Triumph Street Twin ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยคงเอกลักษณ์ความเรียบง่าย และคงความร่วมสมัยไว้ ภายใต้ 3 คอนเซปต์หลักคือ สร้างขึ้นเพื่อให้สนุก, เพื่อให้ขับขี่, เพื่อให้ตกแต่งเป็นของตัวเอง
ในครั้งนี้ก็ต้องขอขอบคุณทาง Triumph Motorcycles Thailand ที่ให้เกียรติผมได้ร่วมขับขี่ Triumph Thruxton R ซึ่งก็จัดว่าเป็นมอเตอร์ไซค์ที่ได้รับการตกแต่งแบบ Cafe Racer มาพร้อมๆ จากทาง Triumph ไปบนเส้นทางสวยงามพร้อม “โค้งยับ” ของ อ.ปาย มุ่งหน้ากลับสู่ จ.เชียงใหม่ ด้วยระยะทางรวมๆไปที่ 150 km เท่านั้นเอง แหม่!! ใจนึงหล่ะก็อยากพากลับกรุงเทพมาด้วยกันเลยจริงๆ ติดที่เวลาไม่อำนวย!!! แต่ก็จะพยายามเก็บรายละเอียดมาให้ครบๆนะครับ
เช่นเคยเพื่อความกระชับขอแบ่งหัวข้อไว้ตามนี้เลย
- รูปลักษณ์ทั่วไป
- รายละเอียดทางเทคนิคที่น่าสนใจ
- สัดส่วนคน และรถ
- การขับขี่ในสภาพถนนต่างๆ
- อัตราสิ้นเปลือง
- ข้อดี/ข้อเสีย/ข้อสังเกต
- น่าจะเหมาะกับ
- สรุป
รูปลักษณ์ทั่วไป
Bonneville T120 & Thruxton R
หลักๆเลยที่ Thruxton R ต่างออกไปจาก Bonneville T120 ที่เห็นได้ชัดก็จะมีตามนี้เลยครับ
- ซับเฟรมของ Thruxton R ที่ออกแบบให้มีความคล่องตัวสูงกว่า T120
- เครื่องยนต์ของ Thruxton R เป็น HP (High Power) T120 เป็น HT (High Torque)
- โช็คหน้า Showa แบบ USD ปรับได้เต็มๆ ทั้ง preload / compression / rebound damping
- โช็คหลังจาก Ohlins
- แฮนด์แบบจับโช็คเพิ่มความซิ่ง !
- ปั๊มเบรคล่างจาก Brembo หยุดรถแบบเต็มๆ พร้อมจานเบรคคู่แบบ Floating Disc จาก Brembo
- Mode 3 โหมด Sport / Road /Rain
นอกจากนั้นก็จะเป็นรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ รวมถึงอุปกรณ์ติดรถเช่น ยาง Pirelli Diablo Rosso Corsa, กระจกปลายแฮนด์, ฝาถังน้ำมัน, ครอบท้ายคนซ้อน, ทรงของเบาะ, ทรงถังน้ำมันต่างๆ
สรุปคือ ก็รถคนละคันนั่นแหล่ะครับ มีใช้ร่วมกันบ้างบางส่วน (เอ้าเขียนมาตั้งเยอะ ตัดจบงี้ !!!)
[บนซ้าย] ฝาถังน้ำมันแบบ 2 ชั้น คือมีฝาครอบชั้นนอก (Monza-type) และฝาเกลียวด้านใน
[กลางซ้าย] โช็คหน้าจาก Showa ที่ “ปรับได้เต็ม” ไม่ว่าจะเป็น Preload (ด้านล่างของแกน), Rebound Damping และ Compression “ทั้งสองข้าง”
[ล่างซ้าย] Thruxton R มาพร้อมกับปั๊มเบรคบน-ล่างจาก Brembo เพื่อการเบรคที่ดีขึ้นบนรถที่ “เร็วขึ้น”
[บนซ้าย] ไฟ DRL (Daytime Running Light) ที่สามารถเลือกได้ว่าจะเปิด DRL หรือจะสลับเป็นไฟต่ำ
[ล่างซ้าย] กุญแจยังเป็นสีแดงเหมือนสีรถเลย !!!
[บนขวา] โช็คหลังสองต้นดูโอ้จาก Ohlins และท่อไอเสียเดิมๆจากโรงงานที่ออกแบบโดย Vance & Hines
[ล่างขวา] เครื่องยนต์ขนาด 1200 cc แบบ HP (High Power) ให้รอบที่จัดจ้าน พร้อมด้วยแรงบิด และแรงม้าที่รอบสูงขึ้น
[บนขวา] กระจกปลายแฮนด์ซึ่งสำหรับผมเองรู้สึกว่า วางตำแหน่งได้ดีมาก เพราะ ก้านของกระจกที่ยื่นไปด้านหน้า ทำให้ไม่ติดกับอุ้งมือ และข้อมือ เวลาที่เราบิดไปมาเพื่อจัดท่าการขับขี่ต่างๆ
มุมมองของผู้ขับขี่โล่งๆ สบายๆ “รื่นลม” เต็มๆ ในส่วนของหน้าปัทม์นั้นแสดงข้อมูลอย่างครบครันไม่ว่าจะเป็น
- ความเร็วเดินทาง แบบเข็ม
- รอบการทำงานของเครื่องยนต์ แบบเข็ม
- ไฟบอกเกียร์
- เกจ์วัดระดับน้ำมันเชื้อเพลิง
- ระยะทางที่วิ่งต่อได้กับน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหลืออยู่ (range)
- ไฟเตือนระยะ service
- นาฬิกา
- Trip 1 / 2
- Mode การขับขี่ 3 mode Sport / Road / Rain
- แสดงอัตราสิ้นเปลืองขณะการขับขี่
- แสดงสถานะของ Traction Control
[ปะกับไฟทางซ้าย] ไล่เรียงมาครบครันกับ
- ด้านบนเป็นไฟสัญญาณ pass
- สัญญาณสลับไฟ Daytime running light (DRL) และสัญญาณไฟต่ำปกติ
- เมื่อใช้ DRL ปุ่ม pass จะทำหน้าที่ดิฟไฟสูง
- เมื่อไม่ใช้ DRL ปุ่ม pass จะเป็นการเปิด/ปิด ไฟสูงแทน
- ปุ่ม “i” หรือที่ผมชอบเรียกว่าปุ่มมหัศจรรย์ !!! เพราะเจ้าปุ่มเล็กๆปุ่มเดียวนี้หล่ะครับที่จะใช้ในการควบคุมทุกอย่างของรถ โดยใช้ได้สองแบบคือ
- กดปล่อย เพื่อเลือกการแสดงผลต่างๆ
- กดค้าง เพื่อทำการตั้งค่า … จบ …
- สัญญาณไฟเลี้ยว
- สัญญาณแตร
- Mode เพื่อใช้เลือก mode ในการขับขี่ 3 mode ด้วยกันคือ Sport / Road /Rain
[ปะกับไฟทางขวา] มากับความเรียบง่ายด้วยปุ่ม 3 ปุ่ม
- ปุ่ม off-run / start การทำงานของเครื่องยนต์
- ปุ่มสัญญาณไฟ hazard (หรือไฟผ่าหมาก)
รายละเอียดทางเทคนิคที่น่าสนใจ
กับเครื่องยนต์ขนาด 1200 cc ที่ใช้ร่วมกันของ Triumph Thruxton R และ T120 แต่เดี๋ยวก่อนๆ การปรับแต่งที่มีของทั้งสองรุ่นนั้น “แตกต่าง” กันจนทำให้มีนิสัยที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง
- HP 1200 (High Power) แรงม้าสูงขึ้น และมีรอบการทำงานที่สูงขึ้น เพื่อให้อารมณ์ของความเป็น Sport ในรถ Classic ซึ่งบรรจุใน Triumph Thruxton R
- HT 1200 (High Torque) แรงบิดที่จัดจ้านตั้งแต่เปิดคันเร่งที่รอบต่ำ และบรรจุอยู่ใน T120
ซึ่งจากการที่มีโอกาสได้ขับขี่ทั้งสองคันนั้นบอกเลยว่า … “ต่างกันมาก” เลยทีเดียวครับ กับเครื่องยนต์ที่ทาง Triumph นั้นปรับแต่งออกมาทั้งสองนิสัย รวมไปถึงองค์ประกอบรวมๆทั้งหมดของตัวรถเอง
สัดส่วนคน และรถ
กับผู้ขับขี่เดิมที่ยังมีความสูงไม่เปลี่ยนแปลงที่ 163 cm และน้ำหนัก 65 kg ลงได้ “ปลายเท้า” กับ Triumph Thruxton R ที่วางน้ำหนักรถได้ค่อนข้างดีทำให้การตั้งรถตรงไม่ต้องรู้สึกว่าต้องใช้แรงเยอะเกินไป
ส่วนผู้ขับขี่คนเดิมที่มากับสัดส่วน 180 cm พร้อมน้ำหนักตัว 85 kg “เต็มเท้า” หย่อนๆ สบายๆ เรียกได้ว่าแทบไม่มีคันไหนไม่เต็มเท้าเลยตานี่ !
การขับขี่ในสภาพถนนต่างๆ #การเดินทางบนเส้นทางหลัก
ท่าซิ่งมาก บอกเลย!
ด้วยขุมพลังขนาด 1200 cc 2 สูบโตๆ แบบ HP (High-Power) จากทาง Triumph ที่บรรจุลงมาบน Thruxton R คันนี้ “เหลือเฟือ” กับทุกเส้นทางหล่ะครับ แรงบิดที่ให้มาเต็มที่รอบ 4950 rpm และแรงม้าเต็มที่ 6750 rpm ทำให้ย่านความเร็ว 100-120 km/hr ทำได้แบบสบายๆ การเร่งแซงทำได้ทันใจทันที และด้วยรอบการทำงานของเครื่องยนต์ ให้อารมณ์เหมือนกำลังขับขี่รถสปอร์ต แต่บนความ Classic นี่สินะที่เค้าเรียกว่า Sport Classic (ตึ่งโป๊ะ)
ปั๊มบนจาก Brembo OEM และปั๊มล่างจาก Brembo แบบ Monobloc ที่บรรจุลงมาใน Thruxton R คันนี้ พร้อมด้วย ABS ที่ทำงานได้ค่อนข้างละเอียด เมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วทำให้เบรคเดิมๆ นับว่า “ดีมาก” แต่ทั้งนี้ก็ต้องมากับการถ่ายน้ำหนัก และการเกลี่ยน้ำหนักเบรคที่เหมาะสมไปด้วยนะครับ … แล้วทำยังไงหล่ะ? … ไปลงเรียนกันเลยดีกว่า !
พื้นฐานช่วงล่างเดิมๆของ Thruxton R ค่อนข้างเซทให้ด้านหน้าที่แข็ง และหลังที่นุ่ม ซึ่งก็ตอบสนองกับการใช้งานในบ้านเราได้เป็นอย่างดี ผสานกับท่านั่งของตัวรถที่บังคับให้ผู้ขับขี่กดช่วงหน้าของรถลงได้เต็มที่ให้ความรู้สึกที่แน่นๆซึ่งทำให้การเบรคหนักๆทำได้มั่นคง โดยไม่ออกอาการปลิ้นอะไร แต่ถ้าปรับแต่งให้เหมาะสมกับน้ำหนัก และสภาพเส้นทางแล้วหล่ะก็ …ฟิน !
กระจกปลายแฮนด์เดิมๆ ให้ลุคกวนๆ แม้ว่ามุมมองของกระจกค่อนข้างแคบเมื่อเทียบกับกระจกมาตรฐานทั่วไป แต่อาศัยปรับตั้งให้เหมาะสม กับปรับตัวสักนิดหน่อย พอคุ้นเคยก็ดีขึ้นครับ
เบาะนั่งของ Thruxton R ค่อนข้างจะกระด้างไปนิด แต่ก็ไม่ได้ลำบากอะไร บนการเดินทางระยะกลาง-ไกล ตัวรถทำได้สบายๆครับ กำลังเหลือเฟือ รอบเครื่องกำลังดี ไม่ออกอาการสะท้านจนเกินรับไหว แต่ผู้ขับขี่เองอาจจะเมื่อยได้พอสมควร จากท่านั่งแบบกวนๆ ในมาดของจิ๊กโก๋ Cafe Racer หรือจะเรียกว่า “หมอบ” นั่นเอง
โหมดที่แนะนำ Sport
ถ้าสภาพถนนลื่นจัดๆหรือฝนลงปรอยๆ ลดมาเหลือ Road / Rain ก็สบายใจดี
การขับขี่ในสภาพถนนต่างๆ #ช่วงเวลาเพลินกับทางเขา ทางโค้ง
ได้เวลาสนุกแล้วสิ
ท่านั่งแบบสปอร์ต ทำให้การถ่ายน้ำหนัก และจัดท่าทางในการขับขี่ซ้าย-ขวา ทำได้คล่องตัว ผสานกับการวางน้ำหนักของรถที่ทำได้ดี ผสานกับยางติดรถทรงกลม และองศาของโช็คหน้า ระยะฐานล้อรวม หรือจะเรียกง่ายๆว่า “รายละเอียดทั้งหมด” ของรถคันนี้ ทำให้ Thruxton R เดินทางไปบนเส้นทางโค้ง ทางเขา คดเคี้ยวไปมาของ อ.ปาย-เชียงใหม่ ได้เป็นอย่างดี
รอบของเครื่องยนต์ขนาด 1200cc แบบ HP (High Power) ที่มากับลูกสูบใหญ่ๆ 2 ลูก ที่ให้นิสัยของรถสปอร์ต คือช่วงรอบต้นที่เหมือนจะเนิบๆ แต่พอรอบขึ้นกลางๆซัก 4500 rpm ขึ้นไปหล่ะก็ “สนุก” ยางติดรถเดิมๆที่นับได้ว่า ดีพอ กับสภาพถนน และการใช้งานในบ้านเรา ยิ่งทำให้การขับขี่ไปบน Thruxton R สภาพทางโค้งนี้ทำได้อย่างสนุกสนาน
นอกไปจากเรื่องของขุมพลัง และช่วงล่างแล้ว ก็ยังมีมุมของแกนโช็คหน้าที่ปรับให้ชันขึ้น เฟรม และซับเฟรม รวมไปถึงองค์ประกอบเล็กๆน้อยๆ ทั้งหมด ที่ออกแบบใหม่เป็นอย่างดีเพื่อให้ได้ความคล่องตัวที่มากขึ้นในรถแบบ Bonneville การจัดท่าทางต่างๆทำได้คล่องแคล่ว การขับขี่ไปบนเส้นทางโค้งต่อเนื่องทำได้อย่างคล่องตัวมากเลยทีเดียว
โหมดที่แนะนำ Sport
ถ้าสภาพถนนลื่นจัดๆหรือฝนลงปรอยๆ ลดมาเหลือ Road / Rain ก็สบายใจดี
อัตราสิ้นเปลือง
คราวนี้ได้ขับขี่กันระยะทางไม่ไกลมากคือแค่เพียง 150 km เท่านั้นเลยขอนับเป็นรถ 2 คันแล้วมาเฉลี่ยกันแทนหล่ะกันนะครับกับลักษณะการขับขี่ 2 ลักษณะด้วยกันคือใช้ความเร็วเดินทางเล่นสนุกตามอารมณ์ และขับขี่ยืนพื้นแบบชิวๆ
โดยทั้งสองคันทำอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยได้ที่ 16.59 – 20.66 km/litre จากอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยตามเสปคที่เคลมไว้ 21.7 km/litre (จาก Triumph ประเทศอังกฤษ) ก็นับได้ว่าไม่ได้ทิ้งห่างกันนัก ส่วนนึงน่าจะมาจากรอบของ Thruxton R ที่ค่อนข้างสูง และเอื้อให้ผู้ขับขี่ใช้รอบกวาดขึ้นลงได้อย่างต่อเนื่อง และเล่นไปกับเส้นทางได้อย่างสนุกสนาน ทำให้ “ลืมตัว” กันได้ง่ายๆเลยทีเดียว
ข้อดี / ข้อเสีย / ข้อสังเกต
ข้อดี
- เสถียรภาพของรถดีมาก ผสานกับการวางน้ำหนักที่ลงตัวทำให้ Thruxton R ยกขึ้นตั้งตรงได้ง่าย และยังคงบาล๊านซ์ที่ดี ในการใช้ความเร็วเดินทาง
- แม้จะมากับรูปลักษณ์แบบคลาสสิค แต่ก็มีระบบไฟฟ้าเข้ามาช่วยไม่ว่าจะเป็น Traction Control และ ABS ที่เสริมความปลอดภัยให้ผู้ขับขี่บนการใช้งานทั่วไปได้มากเลยทีเดียว
- ตัวรถเรียบง่าย การใช้งานเรียบง่ายเข้าถึงได้ง่าย และเรียนรู้ได้ไวด้วยปุ่ม “i” มหัศจรรย์
- คลัทช์แบบ Slip-Assist ที่คล้ายๆกับ slipper clutch ทำให้ผู้ขับขี่ลงเกียร์ได้เร็วๆต่อเนื่อง โดยรถแทบไม่มีการเสียอาการ (แต่จะรู้สึกได้ที่ปลายนิ้วซ้าย คือก้านคลัทช์จะมีอาการแบบ ดื้นๆนิดๆเวลาที่เราลงเกียร์เยอะๆนะครับ ซึ่งเป็นปกติ) ซึ่งเหมาะกับ Thruxton R ด้วยรอบของรถที่ค่อนข้างสูงพอสมควร (เทียบกับ Bonneville ด้วยกันนะครับ)
- ของติดรถเดิมๆ ให้ความรู้สึกว่า “จบ” ทั้งช่วงล่างเดิมๆ หน้า-หลัง เบรคเดิมๆ ทั้งหมดให้สมรรถนะ และประสิทธิภาพที่ลงตัวดีอยู่แล้ว
- ปุ่ม Mode อยู่ทางด้านซ้าย ซึ่งทำให้ผู้ขับขี่ใช้การปรับเปลี่ยน Mode ได้ง่ายขึ้น
ข้อเสีย / ข้อสังเกต
- พอร์ต usb ที่วางหลบไว้ใต้เบาะส่วนตัวผมรู้สึกเข้าถึงยากไปนิดนึง ลากสายออกมาแล้วมีโอกาสลืมว่าเสียบชาร์จอยู่ได้เหมือนกัน
- “จิ๊กโก๋” มาคนเดียว … ไม่มีพักเท้าคนซ้อน และเบาะคนซ้อน ถ้ามีคนซ้อนหล่ะก็ ต้องเปลี่ยนเบาะ และเพิ่มพักเท้าหลังเข้าไปอีก
- รอบเครื่องยนต์ HP ที่ให้แรงบิดที่รอบสูง หากปรับมาเพิ่มคนซ้อน และสัมภาระ อาจจะต้องมีการ “คลอรอบ” เพิ่มซักหน่อยที่รอบต่ำๆ แต่ด้วยพื้นฐานของ 1200 cc น่าจะทำได้ง่ายๆหล่ะครับ
- กระจกปลายแฮนด์เดิมๆ กวนมาก ชอบ ! แต่แลกด้วยมุมมองที่แคบลงกว่ากระจกมาตรฐานทั่วไปเล็กน้อยนะครับ ปรับตัวนิดนึง ถ้าชินแล้วก็สบายๆ
น่าจะเหมาะกับ / ไม่เหมาะกับ
น่าจะเหมาะกับ
- เพื่อนๆที่ชอบรถในแบบ คลาสสิกอยู่แล้ว (แหงหล่ะ)
- มีพื้นฐานในการขับขี่รถขนาดใหญ่อยู่แล้วระดับนึง
- ชอบรถสปอร์ต แต่ก็ชอบความชิวไปด้วย
- Cafe Racer … อารมณ์ล้วนๆ !
น่าจะไม่เหมาะกับ
- เดินทางไกลๆ คือถามว่ารถทำได้มั้ยทำได้ครับ แต่ผู้ขับขี่จะเมื่อยไปสักหน่อย หรือถ้าไปปรับแฮนด์ขึ้นก็ เอาเป็นว่า แล้วแต่ความชอบเลยดีกว่า
- มือใหม่ ไม่ค่อยแนะนำกับ Thruxton R สักเท่าไหร่ แม้ว่าจะเป็นรถที่ขับขี่ได้ค่อนข้างง่าย แต่ด้วยท่านั่งแบบรถสปอร์ต อาจจะต้องอาศัยความคุ้นเคย และปรับตัวสักระยะ
สรุป
ด้วยรูปลักษณ์ของรถ Classic ในคลาส Bonneville ของ Triumph ให้ความรู้สึกแรกที่เห็นว่า “หนักแน่” จะขี่ยังไงเนี่ย เรียกว่าเดาทางไม่ค่อยถูกเลยทีเดียว แต่กับ Triumph ในยุคใหม่ !! ที่มุ่งเน้นพัฒนารถไปตามแนวทางของ “For The Ride” ทำให้พลิกความคาดหมาย และความรู้สึกที่มีกับ Thruxton R คันนี้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ “ขึ้นคร่อม และยกตั้งตรง”
การตั้งรถตรงทำได้ง่าย ผมเองกะน้ำหนักรถไว้ 200-210 kg ซึ่งก็ใกล้เคียงกับน้ำหนักรวมของเหลวที่ประมาณ 220 kg การวางบาล๊านซ์ของรถทำได้ดีขึ้นมากกว่า Bonneville รุ่นก่อนๆมากเลยทีเดียว จากที่เคยต้องออกแรงเยอะๆ บน Thruxton 900 แต่กลับ Thruxton R ที่มาในพิกัด 1200cc นี้กลับ “เบาแรง” ลงไปเยอะมากๆ
นอกไปจากความ Classic แต่ทาง Triumph เองก็ยังมีการใส่อิเล็คทรอนิกส์ต่างๆเข้ามาเหมือนกันไม่ว่าจะเป็น ABS , Traction Control และ Mode ในการขับขี่อีก 3 โหมด คือ Sport / Road / Rain ให้เลือกใช้ได้ตามความ “คัน” หรือสภาพเส้นทางลื่นๆ
ขุมพลังขนาด 1200 cc แบบ HP (High Power) ทำให้มีสิ่งนึงที่คงบรรยายได้ไม่หมดคือ “อารมณ์” ในการขับขี่ที่สัมผัสได้ทุกครั้งเวลาที่เปิดคันเร่ง ไล่รอบขึ้นไปเรื่อยๆ ซุ้มเสียง จังหวะการทำงานของเครื่องยนต์ที่มีองศา Crank 270 องศา แบบ 2 สูบใหญ่ๆ ผสานกับท่อที่คำนวนมาอย่างดีโดย Vance &Hines ที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง
ของติดรถเดิมๆ สำหรับผมเองนับว่าใช้งานได้ดีมาก ไม่ว่าจะเป็นโช็คหน้าของ Showa ผสานกับโช้คหลังจาก Ohlins ที่ปรับระดับได้ครบทั้ง Preload / Rebound Damping / Compression ไล่ขึ้นมาเป็นปั๊มเบรคบน-ล่าง จาก Brembo ที่ผสานกับจานเบรคขนาด 320mm แบบ Floating จาก Brembo ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ การตอบสนองของรถในสภาพถนนทางเรียบทำได้ดีมาก การเบรคทำได้อย่างมั่นคง และให้ระยะหยุดที่ดีมาก
นับได้ว่าเป็นรถคันนึงที่มีเรื่องราวความเป็นมาที่ยาวนาน แต่ผสานรวมเข้ากับเทคโนโลยี และแนวทางของคำว่า “For The Ride” ทำให้เป็นรถในแนว Bonneville (Classic) ของทาง Triumph ที่ขับขี่ได้ง่าย ให้ความคล่องตัวสูง น้ำหนักเบา และใช้งานได้จริง พร้อมด้วยรูปลักษณ์ในแบบ Cafe Racer แต่ทั้งนี้ก็ต้องแลกด้วยการ “นั่งคนเดียว” และรอบเครื่องยนต์ที่ใช้สูงขึ้น ซึ่งอาจจะลดความชิว … แต่สิ่งที่ได้มาคือความสนุกในการขับขี่ที่มากขึ้น … ก็แลกกันไป !
ขอบคุณ Triumph Motorcycles Thailand ที่ให้เกียรติกับเราได้เป็นส่วนนึงในการเดินทาง
https://www.facebook.com/TriumphMotorcycleThailand
ขอขอบคุณ Dirtshop ที่เอื้อเฟื้ออุปกรณ์ขับขี่ให้เราใช้ในการเดินทางจริง !
ติดตามกับผลิตภัณท์คุณภาพจาก Spidi Official Thailand ได้ที่นี่เลย
Comments