หากเพื่อนๆที่หมั่นค้นคว้าหาเทคนิค หรือชอบที่จะดูคลิปต่างๆในการขับขี่ หาการฝึก หากลเม็ดเคล็ดลับ ในการเอาตัวรอดต่างๆบนรถมอเตอร์ไซค์อยู่เรื่อยๆหล่ะก็ ผมเชื่อเลยว่าจะต้องมีคลิปที่หลายๆคน ต้องเคยผ่านตามากันอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็น การบลิปคันเร่งมันๆ หรือจะการใช้เทคนิคหักรถไปด้านตรงข้าม (counter steering) หรือจะเป็นการใช้สายตากำหนดจุดหมายในโค้ง
ซึ่งในคลิปเหล่านั้น ผมเชื่อเลยว่า จะต้องคุ้นหน้าคุ้นตากับคุณลุงคนนึง ที่ดูสูงวัย มาคอยยืนบอกเล่าถึงเทคนิคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยว การบลิปคันเร่ง การเบรคต่างๆ และคนๆนั้นก็คือ Keith Code ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า California Superbike School รวมไปถึงผู้เขียน “คัมภีร์” ที่ชื่อว่า Twist of The Wrist (การสะบัดของข้อมือ) ที่นับได้ว่าเป็นหนังสือที่บอกเล่าถึง “ทุกอย่าง” ที่เกี่ยวกับการขับขี่ในสนามทางเรียบ ที่ผมเองก็เคยอ่านในช่วงก่อนที่จะเริ่มหัดขับขี่มอเตอร์ไซค์
Keith Code เป็นอดีตนักแข่งมอเตอร์ไซค์ทางเรียบผู้เริ่มต้นก่อตั้ง California Superbike School ตั้งแต่ปี คศ 1980 หรือกว่า 40 ปีมาแล้ว มีผลงานในการปั้นนักแข่ง ขึ้นสู่สังเวียน AMA มากมาย 1 ในนั้นคือ Wayne Rainey และในปัจจุบันก็มีสาขากระจายออกไปทั่วกว่า 15 ประเทศ และทำการสอนบนสนามแข่งถึง 90 สนามทั่วโลก พร้อมด้วยกลุ่มนักเรียนที่ผ่านการฝึกมาจากที่นี่กว่า 150,000 คน
ในครั้งนี้เองที่ผมต้องขอขอบคุณทาง BMW Motorrad Thailand ที่ให้เกียรติกับผมได้มา “เรียน” อย่างเข้าถึงไปบน BMW S 1000 RR กับทีมงานผู้ฝึกสอนจาก California Superbike School ที่มี “ลูกชาย” ของลุง Keith Code นั่นคือ Dylan Code มาบรรยายกันต่อหน้า จากที่ผมเคยได้แต่นั่งดูคลิปต่างๆเพื่อเอามาฝึกฝนเอง … คราวนี้แหล่ะ … สอนจริง ขี่จริง ดุจริง ไล่จริง ของจริง !!!
California Superbike School นั้นจะแบ่งหลักสูตรออกเป็น 4 Level โดยจะเพิ่มความเข้มข้น และเนื้อหาของแต่หล่ะหลักสูตรไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน สำหรับ Level 1-3 นั้นจะเป็น การเพิ่มเทคนิค และแก้ไขนิสัยติดตัว ก่อนที่จะไปเป็น Level 4 ที่บอกเลยว่า “แล้วแต่เป้าหมายของผู้ขับขี่ แต่ละคน”
เพื่อให้กระชับแบบเน้นๆ คราวนี้ผมจะขอแบ่งหัวข้อที่จะพูดถึงประสบการณ์กับ Level 1 ในครั้งนี้ตามนี้เลย
- การเรียนการสอนเป็นยังไง
- แบบฝึกหัดที่ 1
- แบบฝึกหัดที่ 2
- แบบฝึกหัดที่ 3
- แบบฝึกหัดที่ 4
- แบบฝึกหัดที่ 5
- การเรียนในครั้งนี้ น่าจะเหมาะกับ / ไม่เหมาะกับ ใคร?
- สรุป
การเรียนการสอนเป็นยังไง
บอกง่ายๆเลยครับ “ไม่มีเวลาให้แม้กระทั่งเดินถ่ายรูป” เต็มที่คือเดินไปเข้าห้องน้ำแบบเร็วๆ เพราะการเรียนในระดับ Level 1 กับ California Superbike School นั้นจะเข้มข้นมาก เรียกได้ว่าชุดขับขี่ไม่ต้องถอด หมวก ถุงมือ ถือติดตัวตลอดเวลา และจะแบ่งการขับขี่ออกเป็น 5 ช่วงด้วยกันตามแบบฝึกหัด โดยแต่ละแบบฝึกหัดนั้นจะประกอบไปด้วย
- เข้าห้องเรียนนั่งฟังทฤษฎี ประมาณ 20 นาที
- ลงสนามขับขี่ประมาณ 30 นาที
- ขึ้นจากสนามมาเพื่อสรุปการขับขี่ 10 นาที
แบบนี้แหล่ะครับ วนกันแบบนี้เลย 2 แบบฝึกหัดช่วงเช้า พักทานข้าวกลุ่มละไม่ถึง 1 ชั่วโมง แล้วก็ต่อเลยอีก 3 แบบฝึกหัด เอาเป็นว่าเต็มๆ รีดกันให้หมด เค้นให้จบ ได้ทักษะ ได้มุมมองใหม่ๆกับการขับขี่ติดตัวกันไปอย่างแน่นอน
จำนวนของผู้ฝึกสอน (ครูฝึก) สำหรับในการเรียน Level 1 ครั้งนี้นั้นจะอยู่ที่ 1:3 (ครูฝึก 1 และนักเรียน 3) หรือถ้าใครแววมาหล่ะก็อาจจะมีการปรับเป็น 1:2 หรือ 1:1 ตามสมควร ซึ่งลักษณะการขับขี่นั้นจะมีการแบ่งกลุ่มละไม่เกิน 15 คน และให้ขับขี่กันแบบ “แซงโลด” ซึ่ง Dylan Code ให้เหตุผลว่า เพราะทักษะของแต่ละคนไม่เท่ากัน การขับขี่ในครั้งนี้จึงอนุญาตให้แซงได้ตามสะดวก แต่ต้องทำอย่างปลอดภัย และเว้นระยะอย่างน้อย 2 เมตรเท่านั้น (แต่ถ้าใครโชว์พาวหล่ะก็ โดนเรียกไปปรับทัศนคติเลยจ้า…)
เทปในมือนั่นก็คือ … บันทึกช้อปปิ้ง ! … ที่จะติดบนตัวรถแบ่งตามสีของแต่ละกลุ่ม ซึ่งครูฝึกที่ดักรอตามจุดต่างๆ ก็จะจดเบอร์ และมาร์คจุดที่แต่ละคน “ทำได้ดี” หรือ “ต้องแก้ไข”
ในระหว่างนั้นครูฝึกแต่ละคน ก็จะไปดักรอตามขอบสนาม ตามตำแหน่งโค้งเด็ดๆต่างๆ คอยชอปปิ้ง จิ้มเลือก (เหยื่อ – -) ที่จะพาไปเทรนต่อตามระดับของนักเรียนแต่ละคน ตามความเหมาะสมของทักษะ ซึ่งทำให้เราทุกคนมั่นใจได้เลยว่า … ได้ของไปต่อยอดแน่นอน
ในระหว่างการขับขี่ เมื่อเราโดนล็อคเป้าจากครูฝึกแล้วหล่ะก็ … บันเทิง … เพราะเค้าจะขึ้นมาขี่นำให้เราทำตาม คอยช่วยชี้เป้าต่างๆ จุดยกคันเร่ง จุดเบรค จุดเริ่มเลี้ยวรถ จุดเดินคันเร่ง ตำแหน่งคันเร่งต่างๆ ก่อนจะลงมาขี่ตามสังเกตุการณ์ และสลับแซง สลับตาม กันไปมา จนกว่าเราจะทำได้เป๊ะนั่นแหล่ะครับ ถึงจะปล่อยให้เดินต่อไปด้วยตัวเองได้
Christian … ครูฝึกของผมเอง !! เรียกว่ายืนคู่กันนี่อารมณ์แบบ พ่อกะลูก เพราะเฮียแกสูงซะราวๆ 190 cm … แต่ขี่อย่างพริ้วเลยหล่ะครับบอกเลย
หลังจากนั้นก็จะลงมา “เข้าพิท” นั่งสรุปโดยจะมีการถามว่า ตรงไหนที่เราคิดว่ายังทำไม่ดี ยังมีอาการเหวอ หรือยังพัฒนาได้อีก พร้อมทั้งเชคลิสต์ ที่ครูฝึกเขียนไว้บนถังน้ำมันว่าใครต้องแก้อะไร มาประกอบกับคำบอกเล่า พร้อมชี้ปัญหา และแนวทางในการลงไปแก้ไขในรอบถัดไป … ส่วนผมนั้นนะเหรอ … ขอแก้ทั้งสนามเลยได้มั้ย ~~
แบบฝึกหัดที่ 1 – ฝ่าความเหวอ ทะลุความกลัว กับการ “ห้ามใช้เบรค” เพราะสิ่งเดียวที่ทำได้คือ “คันเร่งเท่านั้น”
“รอบแรกคงให้ขี่สบายๆมั้ง” … ใครบางคนกล่าวไว้ ซึ่งก็จริงครับขี่สบายๆ เพราะ Dylan Code พูดง่ายๆเลยว่าใช้เกียร์ 4 เกียร์เดียวนะทุกคน … “แต่ห้ามเบรค” … ก่อนจะอธิบายต่อว่า จะขี่กันยังไงก็ได้ ใครจะมาทางตรงเท่าไหร่จะบิดไปเท่าไหร่ก็ได้ เอาที่พวกนายสบายใจเลยจ้า แต่ก็แค่ห้ามเบรคแค่นั้นเอง (แต่ถ้าอันตรายก็เบรคได้น้า) หลังจากนั้นให้เปิดคันเร่งออกจากโค้งอย่างนิ่มนวลก่อนจะส่งรถออกแบบ “คันเร่งเต็ม” ออกจากโค้งต่อไป
ยกตัวอย่างกันง่ายๆเลย เพราะเราจะต้องเห็น หรือบางคนก็เป็นกับตัวเอง กับการวิ่งทางตรงมาอย่างเร็ว ก่อนที่จะเบรคหน้าทิ่ม แล้วคลานเข้าโค้งไปช้าๆ ซึ่งการทำแบบนี้นั้น “ไม่มีผลดีอะไรเลย” นอกจากตัวเลขความเร็วทางตรงที่ไว้คุยเท่านั้น นอกจากนั้นยัง อันตราย เพราะเป็นการทำให้รถเสียการยึดเกาะกับถนน (traction) จากการเบรคไปซะอย่างนั้น
เพราะฉนั้น การฝึกในแบบฝึกหัดแรกนั้น จุดประสงค์หลักคือ เพื่อบังคับให้ทุกคน “ขี่ช้าลง” และใช้สติไปกับการประเมินความเร็วของโค้ง การหาจุดยกคันเร่ง การหาจุดเลี้ยวใหม่ หรือจะเรียกว่า Reset ตัวเองใหม่ เลยก็ว่าได้ แล้วมาเลี้ยวเข้าไปแบบ “ไหล” ให้มากขึ้น
“เกียร์ 4 ไหลๆ เข้าโค้งในสนาม แบบไม่ค่อยมีเอนจิ้นในมือ มันก็จะเสียวๆหน่อยอะนะ”
ในส่วนของการออกจากโค้งนั้น สิ่งที่ทางครูฝึกจะเน้นย้ำเลยคือ “การใช้คันเร่งเดียว” นั่นคือการเดินคันเร่งแบบสม่ำเสมอ ณ จุดที่กำหนด ให้ล้อหลังของรถถ่ายเทแรงเสียดทาน และการยึดเกาะอย่างต่อเนื่อง จนรถส่งออกจากโค้งแบบเต็มคันเร่ง ให้ได้ไลน์ของการขับขี่ที่เป๊ะที่สุด
สำหรับแบบฝึกหัดนี้ผมเองก็ต้องตั้งสติใหม่ reset ตัวเองใหม่เหมือนกัน มีต้องใช้เบรคหลังแต่งความเร็วไปบ้าง 2-3 ครั้ง ก่อนที่ครูฝึกจะขึ้นมานำ พร้อมทั้งบอกจุดเดินคันเร่ง และน้ำหนักตลอดโค้ง ที่ทำให้รู้เลยว่า … “จริงๆแล้ว รถอะทำได้ คนอ่ะกล้าพอที่จะไปรึเปล่าหล่ะ”
แบบฝึกหัดที่ 2 – ตามหาจุดเลี้ยวแบบ “ไร้เบรค” กับการส่งคันเร่งเดียว เพิ่มเติมคือใช้เกียร์ได้เกียร์นึง
“คราวนี้เราเพิ่มให้ใช้เกียร์ได้อีกเกียร์นะ คือเกียร์ 3” หลังสิ้นเสียงก็จะพบกับอาการ “ยิ้มมุมปาก” ของใครหลายๆคน เพราะการใช้เกียร์ 3 บนสนามบุรีรัมย์แห่งนี้นั้น “เข้าทางหลายๆคน” เลยทีเดียว
ด้วยการลดเกียร์เพิ่มได้ 1 เกียร์ ทำให้ BMW S 1000 RR นั้น มีแรงฉุดจากเครื่องยนต์เพื่อช่วยชะลอรถได้ดีขึ้น และเมื่อเพิ่มเติมกับการฝึกหาจุดยกในแบบฝึกหัดแรกนั้น ทำให้ เรา “กล้า” ที่จะลดระยะจุดยกคันเร่ง เขยิบเข้าไปใกล้โค้งขึ้นเรื่อยๆ ให้ได้เริ่ม “ปรับสภาพ” กับความเร็วได้มากขึ้น
สิ่งสำคัญสำหรับแบบฝึกหัดนี้คือ “การกำหนดจุดเลี้ยว”
ซึ่งในการขับขี่นั้นครูฝึกจะมีการแปะเทปกากบาทไว้บนพื้นสนามเลยหล่ะครับ โดยกำชับว่า “ตรงนี้คือจุดที่ทุกคนต้องเลี้ยว” ซึ่งไม่ใช่จุดที่ทำความเร็วได้สูงที่สุด แต่เป็นจุดที่เราคิดว่า … “เหมาะสม” ที่สุดกับการขับขี่ในแต่ละโค้ง
สิ่งสำคัญของการกำหนดจุดเลี้ยวในแบบฝึกหัดที่ 2 นั่นก็คือ การรวมเข้ากับการ “ไหล” เพื่อให้รถมีเสถียรภาพ และสามารถวาดวงเลี้ยวได้แบบ “ครบวง”หลังจากที่ผมได้ขับขี่แล้วก็ต้องบอกว่า … สนามช้างที่ไม่คุ้นเคย และไม่ค่อยจะมีโอกาสได้ขับขี่ กลับกลายเป็น “ง่าย” และการขับขี่ทำได้อย่างมั่นใจมากขึ้นเลยหล่ะครับ
แบบฝึกหัดที่ 3 – “Quick Turn” เลิกบ่นว่า รถหนักเลี้ยวไม่ได้กันดีกว่า
คราวนี้ฝึกกันที่ลานจอดรถก่อนเลย “ไร้เบรค” คือผมเนี่ยแหล่ะครับไม่ได้เบรค … ขึ้นจากสนาม เข้าห้อง ลงมาฝึกต่อ ก่อนจะเดินไปลงแทรคต่อเลย
หากใครเคยได้ยินคำว่า “Counter Steering” หรือการหักแฮนด์ในทิศตรงกันข้ามกับโค้ง (โค้งซ้าย หักแฮนด์ขวา โค้งขวา หักแฮนด์ซ้าย) แล้วหล่ะก็ …
Keith Code เนี่ยแหล่ะครับ คือคนที่พบลักษณะการขับขี่แบบนี้ตั้งแต่ในช่วงปี 1970 แต่พึ่งจะได้รับการยืนยันจาก “ฟิสิกส์” ในภายหลัง และ Keith Code คือคนที่เริ่มนำมาใช้ในการเรียนการสอนในช่วงตั้งแต่ปี 1980 ภายในโรงเรียน California Superbike School
แต่ในการเรียนครั้งนี้ ทั้ง Dylan Code และครูฝึกทุกคน ไม่มีใครใช้คำว่า Counter Steering เลย … ด้วยเหตุผลง่ายๆว่า ทุกคนทำอยู่แล้ว ถ้าไม่ทำแล้วคุณเลี้ยวรถกันอยู่ได้ยังไง ?
สำหรับในแบบฝึกหัดที่ 3 นั้นจะเป็นการฝึก “Quick Turn” หรือการเลี้ยวแบบ “รวดเร็ว” ซึ่งก็ใช้หลักการของ Counter Steering มารวมเข้ากับการใช้น้ำหนักที่สม่ำเสมอในการ “ดันแฮนด์” อยากให้รถเลี้ยวเร็วแค่ไหน ดันแฮนด์ให้หนักขึ้นเลยครับ แต่ทั้งนี้การใช้น้ำหนักในการดันนั้น “ต้องสม่ำเสมอ” และ “นุ่มนวล”
อธิบายด้วยคำพูดนั้นยากเลยทีเดียว ลองนึกสภาพเหมือนการออกแรงบีบลูกยาง ก็ได้ครับ แรกๆจะบีบง่าย แต่พอบีบไปเรื่อยๆจะต้องใช้แรงมากขึ้นเรื่อยๆ “ทีละนิด” การดันแฮนด์ก็จะใช้แรงในลักษณะเดียวกัน
ซึ่งความสำคัญของแบบฝึกหัดที่ 3 นี้ … ต้องใช้การ “ไหลให้เร็วขึ้น” “กำหนดจุดเลี้ยวที่แน่นอน” และ “พับรถไปเลย” !!!
แบบฝึกหัดที่ 4 – เหนื่อยกันรึยัง มามะ .. มาขี่แบบฟินๆ สบายๆ กันดีกว่า
เคยหรือไม่ กับการออกทริปไปพบปะกับเส้นทางโค้งต่อเนื่องที่สวยงาม ให้เราได้เลี้ยวต่อเนื่องชมวิวทิวทัศน์ แต่พอจอดรถเมื่อไหร่ “ปวดแขน” “ปวดข้อมือ” “ปวดหลัง” “เมื่อยขา” สุดแล้วแต่อาการทั้งหลายประดังประดาเข้ามา
อาการเมื่อยทั้งหลายนั่นแหล่ะครับ มาจากการที่ ผู้ขับขี่ “เกร็งร่างการช่วงบน” พอเริ่มเมื่อยแขน ก็พักที่ข้อมือ พอเมื่อยข้อมือ ก็ยกตัวแอ่น พอเมื่อยหลัง ก็ขยับขาหนีบเพิ่ม สุดท้ายกลายเป็น “เมื่อยทั้งตัว” …
สำหรับในแบบฝึกหัดที่ 4 นั้น จะเป็นการ “ตีปีก” … นั่นคือในระหว่างที่กำลังเข้าโค้งไปนั้น ให้ลองขยับข้อศอก ขึ้นลง “เบาๆ” ผ่อนคลายช่วงแขนให้มากที่สุด โดยไม่ให้นำ้หนักลงไปที่ข้อมือ ซึ่งการผ่อนคลายในลักษณะนี้นั้น นอกจากจะทำให้ร่างการลดอาการเมื่อยล้าไปแล้ว ยังทำให้ “ตัวรถสามารถรักษาอาการด้วยตัวเอง”
เคยสังเกตกันมั้ยว่า … ในการแข่งขันต่างๆ จะมีบางครั้งที่ นักแข่งหลุดกระเด็นไปจากตัวรถแล้ว แต่รถยังคงพุ่งตรงทะยานออกไปแบบ “ตรงดิ่ง” นั่นแหล่ะครับ คืออาการที่ตัวรถรักษาเสถียรภาพ
ในเมื่อรถสามารถรักษาเสถียรภาพได้ด้วยตัวเองแล้ว … แล้วเราจะเกร็งร่างการเพื่อไปบังคับเค้าทำไม ?
แบบฝึกหัดที่ 5 – เลี้ยวเร็วจนกลายเป็นเข้าแคบ … แต่บานโค้ง ตั้งสติหา “จุดมองใหม่” ก่อนเลย
ในที่สุดกับแบบฝึกหัดที่ 5 … กับคำกล่าวที่ว่า “จัดเต็ม” ใช้ได้ทุกเกียร์ ใช้เบรคได้ตามต้องการ ขี่กันตามความเร็วของตัวเองได้เลย … แต่ทั้งนี้จงใช้แบบฝึกหัดทั้ง 4 มารวมกัน แล้วมาฝึก “การมอง”
หลายๆคน จะต้องเคยได้ยินคำว่า “มองไปทางไหน รถไปทางนั้น” นั่นแหล่ะครับ คราวนี้เรามาฝึกการมองกันใหม่ กับการมองแบบ “2 ขั้นตอน”แทนที่จะมองไปที่ “Apex” หรือจุดยอดโค้ง แล้วรถพุ่งเข้าไปหา “Apex” นั้นจนกลายเป็นเข้าโค้ง “แคบเกินไป” และสุดท้ายก็ต้องไปบานออก
สำหรับในแบบฝึกหัดนี้ Dylan จะให้เราทุกคนปรับการมองใหม่เป็นแบบ Late Apex หรือการมองที่ยอดโค้งสุดท้ายก่อนออกจากโค้ง โดยให้แบ่งเป็นการมองแบบ 2 ขั้นตอนในการเข้าโค้ง นั่นคือ ให้เรากำหนดจุดที่จะเลี้ยวรถ เมื่อรถไหลเข้าไป “ก่อนจะถึงจุดเลี้ยว”
- มองไปที่ “จุดที่ 1 กลางโค้ง” แต่ยังให้รถวิ่งตรงไปที่จุดเลี้ยว
- เมื่อถึงจุดเลี้ยว จึงเริ่มต้นเลี้ยวไปที่ “จุดที่ 1 กลางโค้ง”
- เมื่อรถเลี้ยวแล้ว จึงมอง “จุดที่ 2 จุดยอดโค้ง” เพื่อให้รถ “ไหล” เข้าไป ก่อนที่จะเดินคันเร่งออก
ซึ่งการมองในลักษณะนี้ เราจะคุ้นเคยกันมากกว่า กับคำว่า “เข้าให้กว้าง ออกให้แคบ” โดยใช้จุดยอดโค้งสุดท้ายก่อนหมดโค้งนั่นแหล่ะครับ เป็นจุดกำหนดเพื่อเปิดคันเร่งออกไป
การเรียนในครั้งนี้น่าจะเหมาะกับ / ไม่เหมาะกับใคร?
สำหรับการเรียนในครั้งนี้นั้น แม้ว่าจะทำบนสนามแข่งขันทางเรียบระดับโลกอย่างสนามบุรีรัมย์ แต่ก็ต้องบอกเลยว่า ทักษะที่ได้นั้น สามารถนำไปปรับใช้บนถนนได้จริง ไม่ว่าจะเป็นการประเมินความเร็วของโค้ง การประเมินจุดเลี้ยว การมองหาจุดเข้าโค้ง จุดมองระหว่างโค้ง และจุดมองในการออกจากโค้ง รวมไปถึงการใช้คันเร่งที่สม่ำเสมอ เพื่อให้รถมีเสถียรภาพในการขับขี่ … ซึ่งทั้งหมดนี้นั้นคือ “ความปลอดภัย”
ซึ่งผมเชื่อเลยว่า จะเป็นการเปลี่ยนทัศนคติให้กับใครหลายๆคนที่เคยทำความเร็วบนทางตรงแบบสุดไมล์ แต่แล้วก็ต้องมาเบรคตัวโก่ง ให้เพื่อนที่ตามหลังต้องเบรคหน้าทิ่ม ก่อนที่จะคลานเข้าโค้งไป ให้กลายเป็นมามีความสนุกกับการลดความเร็วในทางตรงลงซักหน่อยนึง แล้วมา “พารถ” เข้าโค้ง สัมผัสกับความสนุกของเส้นทางกันจริงๆ อย่างปลอดภัยมากขึ้นแทน
แต่ทั้งนี้ “เพื่อให้ได้ประสบการณ์ในการเรียนอย่างคุ้มค่า และมาตักตวงให้เต็มที่” การเรียนกับ California Superbike School Level 1 นั้น น่าจะเหมาะกับ
- เพื่อนๆ ที่เคยเรียน หรือฝึกฝนทักษะบนสนามทางเรียบมาบ้างแล้ว
- เพื่อนๆ ที่เตรียมตัวเพื่อเริ่มลงแข่งขัน แต่อยากมาลับคม ลับฝีมือ เตรียมความพร้อมให้มากขึ้น
- เพื่อนๆ ที่ขับขี่สนามทางเรียบอยู่แล้ว (หรือกำลังแข่งขันอยู่) แต่ยังกดเวลาไม่ลงซักที หรือยังรู้สึกว่ารถมีอาการมากเกินไป หรือยังต้องใช้เบรคอย่างรุนแรงเพื่อประคองความเร็วของรถ
และการเรียนในคอร์สนี้น่าจะยังไม่เหมาะกับ
- “มือใหม่” ที่ยังไม่เคยผ่านการเรียนการขับขี่เบื้องต้น หรือยังไม่มีประสบการณ์ในการขับขี่บนสนามทางเรียบมาก่อน คือ … ไหนๆก็ไหนๆ เก็บประสบการณ์มาซักนิดนึง แล้วค่อยมาเรียน “คุ้ม” กว่าเยอะครับ
สรุป
ในครั้งนี้ต้องขอขอบคุณ BMW Motorrad Thailand ที่ให้เกียรติกับผม ได้มากลับสู่จุดเริ่มต้นกับ California Superbike School ที่เริ่มก่อตั้งโดย Keith Code ผู้ที่เผยแพร่หนังสือ และคลิปวีดีโอตามสื่อต่างๆมากมาย ที่ผมเองก็เคยใช้เป็น “ตำรา” ในช่วงที่เริ่มต้นหัดขับขี่
ซึ่งการได้สัมผัสกับระบบการเรียนการสอน ที่มีการจัดการอย่างเข้มข้น และปล่อยให้เราทุกคนได้ทำการขับขี่กันอย่างเต็มที่ ไม่มีการบังคับในเรื่องของการขี่ตามไลน์ การคุมแถวของนักเรียน แต่ครูฝึกจะใช้วิธีการ “เลือกระดับ และแบ่งเกรด” ของนักเรียนออกตามความเหมาะสม และดึงออกไปเทรนตามระดับของตัวเอง
ซึ่งการเลือกนักเรียนตามระดับแบบนี้ทำให้คนที่มาเรียนสามารถแสดงทักษะที่มีติดตัวได้อย่างเต็มที่ (บนพื้นฐานความปลอดภัย) และมาต่อเติมยอดในส่วนที่ขาด พร้อมทั้งมาทะลายความกลัวที่หลายๆคน เคยมีในจิตใจทิ้งลงไปได้
นอกจากนั้นสนามบุรีรัมย์ ที่ใช้ในการเรียนครั้งนี้ ยังนับได้ว่าเป็นสนามที่มี “ความปลอดภัย” สูงมาก มีช่วงของ Run-off ที่กว้าง “เผื่อ” ให้ใครก็ตามที่ “พลาด” ยังสามารถประคองรถออกไปตั้งสติ ก่อนจะกลับมาฝึกกันต่อได้
ปิดท้ายการเรียนในวันนี้ด้วยคำถามที่ทั้ง Christian และ Dylan Code หันมาถามผม ด้วยคำพูดสั้นๆว่า “วันนี้คุณสนุกมั้ย?” …
ขอบคุณ
หมวกกันน็อคน้ำหนักเบา คุณภาพสูง ราคาย่อมเยา จาก Vemar Thailand
https://www.facebook.com/Vemarthailand/
Koala Rider – A Rider Super Market เกษตร-นวมินทร์
40 Garage ร้านคุณภาพสำหรับมอเตอร์ไซค์ของเพื่อนๆ
facebook : https://www.facebook.com/40garage
Comments