Preview : Honda CB500X อัพเกรดช่วงล่าง เบรค การควบคุมขึ้นอีกขั้น ตอบโจทย์ทุกการขับขี่ได้อย่างลงตัว

โดย /

ก่อนอื่นเลยต้องขอขอบคุณทาง Honda ด้วยนะครับที่ให้เกียรติกับพวกเราให้ได้มาขับขี่ New CB500X ใหม่เอี่ยม “เดิมๆจากโรงงาน” กับเส้นทางที่ครบครันตามที่เค้าถูกออกแบบมาให้ขับขี่ ไม่ว่าจะเป็นการขับขี่บนทางหลัก รวมไปถึงเส้นทางในแบบ Off-Road ที่ต้องบอกว่า CB500X คันนี้ตอบสนองได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

รถในพิกัด 500 ของ Honda นั้นเริ่มต้นขึ้นมาก็ในช่วงปี 2013 ที่ใช้ model เดียวขายทั่วโลก (ยกเว้นในตลาดญี่ปุ่น ที่มีพิกัดเล็กลงตามพิกัดของใบขับขี่) ซึ่งก็ต้องบอกว่าได้รับเสียงตอบรับอย่างดี ด้วยชื่อชั้น การขับขี่ที่เป็นมิตร และการบำรุงรักษาที่ไม่มีอะไรซับซ้อน ตรงไปตรงมาเนี่ยแหล่ะครับ

ซึ่งการปรับปรุงของ CB500X ในครั้งนี้นั้นต้องบอกว่าทำให้หลายๆคน ถึงกับอุทานเพราะราคาที่ยังเท่าเดิม แต่เพิ่มเติมด้วยของที่หลายๆคนเรียกร้อง กับรถที่ต้องบอกว่า “นี่คือจุดเริ่มต้น ของการออกไปเดินทางแบบ Adventure Touring” บนสภาพถนนที่หลากหลาย คาดเดาไม่ได้ ที่ “คุ้มค่ากับค่าตัว” ซะจริงๆ

รูปลักษณ์ทั่วไป

รายละเอียดทางเทคนิค – สเปคของตัวรถที่น่าสนใจ

สัดส่วนคน และรถ

ได้เวลาออกไปขี่กันแล้ว – ทางเรียบ

ได้เวลาออกไปขี่กันแล้ว – ทางดิน

ข้อดี / ข้อสังเกต

 

 

รูปลักษณ์ทั่วไป

CB500X นั้นมากับ 3 สีหลักด้วยกัน ได้แก่

  • สีดำ – Mat Gunpowder Black Metallic 
  • สีแดง – Grand Prix Red 
  • สีเขียว – Pearl Organic Green

ซึ่งบอกเลยว่า ผมนี่เดินไปคว้าสีเขียวก่อนเลย (แหะๆ) ด้วยงานสีที่ดูแปลกตา และโดดเด่นกว่าเพื่อนเนี่ยแหล่ะครับ โดนดึงดูดเข้าไปหาอย่างรวดเร็วเลยทีเดียว

กับการฟังเสียงตอบรับจานทุกคนที่ขับขี่ทำให้ New CB500X คันนี้ได้รับการเพิ่มเติมมาเรียบร้อยแล้วด้วย โช้คหน้าแบบ Upside-Down จาก Showa แบบ SFF-BP (Separate Function Fork – Big Piston) ที่ปรับได้เต็มระบบ (ข้างนึงปรับ Compression / Rebound, อีกข้างปรับ Preload) พร้อมกับระยะยุบหน้าถึง 133 mm

ซึ่งสวิงอาร์มนั้นได้รับการออกแบบใหม่เพื่อลดน้ำหนัก และภาระของช่วงล่างลงอีก 1055 กรัม

นอกจากนั้นยังมากับจารเบรคแบบลายคลื่นลอยตัว (wavy) ขนาด 296 mm พร้อมปั๊มล่างลูกสูบคู่ ที่ให้การตอบสนองบนเส้นทาง Off-Road และสลัดดินออกได้ดีกว่าปั๊มล่างในรุ่นถนนอย่าง CBR500R / CB500F

รายละเอียดทางเทคนิค – สเปคของตัวรถที่น่าสนใจ

เผื่อจะดังแบบ Khaby Lame บ้าง

เอามาแบบสเปคเน้นๆ ที่น่าสนใจกันเลยดีกว่า

สัดส่วนคน และรถ

กับความสูงของผมที่ 163 cm และน้ำหนัก 60 kg ช่วงขา 700 mm กับ CB500X คันนี้ที่มากับเบาะสูง 834 mm ลงปลายเท้าแตะๆ ได้นิดหน่อยครับ ดีที่เบาะค่อนข้างแคบ ทำให้ลงเท้าได้ง่าย และขยับตัวไปมาได้ง่าย 

น้ำหนักตัวรถที่ 199 kg แต่การยกรถขึ้นตั้งตรงไม่มีปัญหาอะไรครับ การวางน้ำหนักของรถทำมาดีเลย ยกแล้วรู้สึกเบาไม่เป็นภาระอะไรกับผมเลยหล่ะครับ

ได้เวลาออกไปขี่กันแล้ว – ทางเรียบ

CB500X มากับแฮนด์บาร์กว้าง ท่านั่งหลังเกือบตรง ซึ่งให้ทัศนวิสัยในการขับขี่ที่ดีเลยหล่ะครับ กำลังของเครื่องยนต์ขนาด 471 cc ส่งแรงบิดให้อย่างนุ่มนวล รอบเดินทางอยู่ที่ประมาณ 4500 rpm บนเกียร์ 6 กับความเร็วในย่าน 90 km/hr ซึ่งเป็นย่านที่รถกำลังนุ่ม ไม่มีอาการสะท้านอะไรส่งมาที่ตัวผมเลยหล่ะครับ

ถ้าต้องการเร่งทันที เชนเกียร์ลงสักเกียร์นึง แล้วดึงรอบขึ้นไปใช้อัตราเร่งในย่าน 6000-8000 rpm ได้เลย พร้อมพุ่งแซง หรือหลบหลีกได้อย่างคล่องตัว

ระบบเบรคแบบ 2 pot ที่ติดตั้งบน CB500X ถือว่าตอบสนองได้ดีแล้วหล่ะครับบนทางเรียบ ด้วยจานเบรคแบบคู่ที่ให้มา แต่ในการเบรครุนแรงบนทางเรียบก็จะมีอาการหน้าจมได้เป็นเรื่องปกติด้วยโช้คหน้าที่ระยะยุบที่ 133 mm ซึ่งการวางน้ำหนัก และการตอบสนองของช่วงล่างจัดว่าโอเคเลย เบรคหนัก ไม่ออกอาการหน้าแฉลบ หรือสั่นอะไรให้เสียวเล่น แบบที่เราอาจจะเจอได้บนรถบางคัน

โช้คหลังปรับตั้ง preload ได้ 5 ระดับซึ่งก็รองรับการใช้งานทั่วไปได้ แต่สำหรับสรีระผมที่น้ำหนัก 60 kg โช้คหลังออกจะกระด้างไปสักนิด พอโช้คหน้านุ่ม หลังกระด้าง ก็จะมีอาการงงๆ ได้นิดนึง ปรับตั้งทั้งหน้า และหลังให้เหมาะสมกับน้ำหนักของเรา กับสภาพเส้นทาง ตอบสนองได้ดีขึ้นแน่นอน บอกเลย

ชิวบังลมหน้ายังมีช่องดักลมเหมือนเดิม ซึ่งตรงนี้ทำให้ชิวหน้านิ่งบนย่านความเร็วเดินทาง ไม่มีอาการสั่นอะไรที่รบกวนการมองเห็นเลยหล่ะครับ มองผ่านได้สบายๆเลย

 

ได้เวลาออกไปขี่กันแล้ว – ทางดิน

เพราะจุดหมายของการเดินทาง ไม่ได้อยู่บนเส้นทางหลักเสมอไป นั่นแหล่ะครับคือสิ่งที่ CB500X ถูกสร้างมาให้ตอบสนองกับทุกการขับขี่

โช้คหน้าที่รู้สึกยวบบนทางเรียบ พอลงดินเท่านั้นแหล่ะ … “ลงตัว” ตอนแรกยังคิดว่าน่าจะมีล้อซี่ลวดให้เลือกจริงๆน้า แต่พอได้ลองขับขี่แล้วก็รู้สึกว่าไม่จำเป็นหล่ะครับ ช่วงล่างแบบ Upside-Down ที่มีภาระการเคลื่อนที่น้อย (เพราะน้ำหนักอยู่ที่กระบอกด้านบน) ช่วยให้ล้อหน้าเคลื่อนที่ซับแรงตามหลุม บ่อ บนทางดินได้ดี ให้การตามติดกับพื้นผิวที่โอเคแล้วหล่ะครับ ส่วนโช้คหลังเดิมๆ แข็งไปนิดนึงสำหรับผม ปรับตั้งหน่อยสบาย

ระบบเบรคแบบ ABS ที่ติดตั้งมาให้กับ CB500X ให้การเบรคบนทางดินที่ “สบายใจ” กดเบรคหลังสุด กำเบรคหน้าสุดได้เลย … แม้ว่าการทำงานจะไม่ละเอียดนัก มีช่วงจับปล่อยที่รู้สึกได้ชัดเจน แต่บอกเลยว่า ระยะหยุดบนทางดินกับยางเดิมๆแบบนี้ ทำได้ดีเลยหล่ะครับ

คันเร่งที่นุ่มนวล แรงบิดที่นุ่ม และเชื่องมือ ทำให้การคุมคันเร่งบนทางดินทำได้ง่ายมาก สำหรับผมใช้การแต่งคลัทช์ช่วยนิดนึงก็พร้อมให้ล้อหลังสไลด์ออกขวางได้แล้วหล่ะครับ ซึ่งพอคันเร่งนุ่มมือ แรงบิดเนียนๆแบบนี้ ทำให้ CB500X ใช้งานบนทางดินได้แบบไม่รู้สึกเครียดอะไร

อาการสไลด์ช่วงเปิดคันเร่ง รีดคลัทช์ที่ออกมา คุมได้ง่ายมาก ด้วยการวางน้ำหนักของตัวรถที่ดี และแฮนด์บาร์ที่มีขนาดเหมาะสม ซึ่งต้องบอกตรงๆว่า ผมรู้สึกดีกับการขับขี่ CB500X บนทางดินแบบนี้มากกว่า CRF300L ซะอีก 

แต่ถ้า Enduro หรือเข้าป่า ทางหิน หล่ะก็ … เราไป CRF300L กันเถอะ แม้ว่า CB500X จะถูไถไปได้ แต่จะเป็นภาระกับตัวเอง และเพื่อนๆเยอะไปหน่อยน้า

 

ข้อดี / ข้อสังเกต

อารมณ์เหมือนได้ของเล่นใหม่ยังไงก็ไม่รู้ ขี่เข้ามือ สนุก พร้อมผจญภัย ราคาหวาน รถขี่ง่าย แรงเหลือ

ข้อดี

  • เพิ่มจานเบรคหน้าแบบคู่ (แบบ wavy หรือจานลายคลื่น) เข้ามา ให้การเบรค
  • โช้คหน้าแบบ SFF-BP จาก Showa ที่ระยะยุบ 133 mm และปรับตั้งได้ครบครัน บิดนิด ตั้งหน่อย ให้ตรงกับการใช้งาน “สนุกเลย”
  • ท่านั่งหลังเกือบตรง ให้ทัศนวิสัยของการขับขี่ที่ดีบนการเดินทาง
  • พร้อมไปในทุกเส้นทางของการท่องเที่ยว จะทางเรียบ ทางดิน CB500X ไปได้หมดหล่ะครับเนี่ย ถือว่าตอบสนองได้ดีมากเลยหล่ะ
  • แรงบิดที่กำลังเหมาะสมสำหรับการใช้งานบนทาง Off-Road ไม่ล้นจนคุมยาก ทำให้ไม่ต้องการระบบอะไรมาช่วยมากมาย
  • ABS ที่อาจจะไม่ได้ละเอียดมากนัก แต่ถือว่าดีพอเลยหล่ะครับกับการเบรคฉุกเฉินแบบ “เต็มเหนี่ยว 4 นิ้ว” บนทาง Off-Road แบบนี้ 

ข้อสังเกต

  • ตำแหน่งของกรองน้ำมันเครื่องที่อยู่ด้านหน้า ซึ่งถ้าขี่ Off-Road หนักหน่อย แอบเสียวๆโดนเสียบได้เหมือนกัน
  • ไม่มีขาตั้งคู่มาให้เป็นมาตรฐาน ซึ่งถ้าติดเพิ่มก็จะทำให้ท้องรถต่ำลง แลกกันไป
  • โช้คหลังค่ามาตรฐานออกไปทางแข็ง และดีดไปนิดนึงสำหรับผม (น้ำหนัก 60kg) แต่ปรับตั้ง preload ได้นะครับ
  • นี่ถ้ามีท่าลับตัด ABS ล้อหลังได้จะแหล่มมาก ใครรู้บอกผมที !

 

สรุป

พร้อมเปิดโลกแห่งการขับขี่แบบ Adventure Touring ไปกับ CB500X คันนี้ได้เลย กับราคาที่ 224,900 บาท แต่สิ่งที่ได้ “ความคุ้มค่า”  

เพิ่มเติมด้วยการปรับปรุงจากเสียงตอบรับของลูกค้า CB500X มากับโช้คหน้าแบบ Upside-down และจานเบรคหน้าคู่ พร้อมแถมด้วยการลดน้ำหนักสวิงอาร์มหลังลงอีก 1 กิโล ที่ทำให้การขับขี่โดยรวมนั้นแตกต่าง และดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การควบคุมรถทำได้อย่างง่าย ไม่เป็นภาระอะไรกับร่างกายของผมเลย

บนเส้นทางหลัก ความเร็วเดินทางทั่วไป 90 km/hr สบายๆเลยครับ สบายมากเลยหล่ะ ช่วงล่างนุ่มให้การตามติดกับถนนที่ดี หากต้องการเร่งแซงลดเกียร์ลงเกียร์นึงกดรอบที่ 6000-8000 rpm พร้อมทะยานได้ทันที

CB500X วางน้ำหนักรถมาได้ดีมาก ขับขี่แล้วรู้สึกได้ถึงอาการรถบนทาง Off-Road นะ แต่ไม่ได้น่ากลัวอะไรเลยครับ ช่วงแฮนด์ และบาล๊านซ์ของรถเอื้อให้ผมเปิดคันเร่งทะยานต่อไป และยังคุมอาการของรถได้ง่ายจนน่าแปลกใจ ว่านี่คือความสามารถของรถในราคา 2 แสนจริงๆเหรอ 

แรงบิดที่นุ่มมือ เชื่อง ที่รอบต่ำ ไม่ต้องใช้ระบบอะไรมาช่วยคุมเพิ่มเติม ให้การคุมคันเร่งบนทางลื่นๆ ทำได้ง่าย และถ้าต้องการให้สไลด์ … เหนี่ยวคลัทช์ช่วยนิดนึง พอ ! 

โดยรวมแล้วต้องบอกว่า Honda รับฟังเสียงตอบรับ และนำมาปรับปรุงลงใน CB500X คันนี้ได้อย่างน่าประทับใจเลยหล่ะครับ ทั้งช่วงล่าง เบรค และการควบคุมที่ยังคงความเหนือชั้นของ 500 Series ไว้ได้อย่างลงตัว และต้องบอกเลยว่านี่คือรถที่เหมาะสมที่จะเป็น Bigbike เพื่อเริ่มต้นขับขี่ในแนว Touring Adventure คันแรก .. หรือจะเป็นคันที่ 2-3 ไว้เล่นสนุก ได้อย่างลงตัว โดยไม่มีข้อสงสัยเลย

Comments