BMW S 1000 XR การผสานของท่านั่งแบบ Adventure และอารมณ์การขับขี่ของ Sport ที่สร้างคาแรคเตอร์ของตัวเอง
BMW กับ รถมอเตอร์ไซค์ เป็นแบรนด์นึงที่นับได้ว่ามีชื่อเสียง และประวัติที่ยาวนาน ซึ่งครั้งนี้นับได้ว่าเป็นอีกครั้งนึงที่ทาง BMW ได้ทำการ “ปล่อยของ” กับ BMW S 1000 XR CKD หรือเวอร์ชั่นประกอบไทยเข้ามาอย่างเป็นทางการในบ้านเรา
หากว่าใครก็ตามที่ยังหลงใหลในอารมณ์ของเครื่องยนต์แบบสี่สูบเรียง ที่ให้ความนุ่มนวลในการขับขี่ และเสียงเครื่องยนต์ที่เรียกกันติดปากว่า “หวาน” แต่ก็ต้องการความสบายไปกับทุกการเดินทางในบ้านเราด้วย ก็คงต้องมีการชายตามามองเจ้า BMW S 1000 XR คันนี้กันบ้างหล่ะครับ … บอกเลย !
และเป็นอีกครั้งนึงที่ต้องขอขอบคุณทาง BKK Motorcycle ที่ให้เกียรติผมได้ทำการขับขี่เดินทางไปบน Adventure Sport นามว่า S 1000 XR คันงามคันนี้
โดยในครั้งนี้เราได้เดินทางไปบนระยะทางร่วมๆ 600 km ของเส้นทางการเดินทางแบบ “อ้อมโลก” สู่จังหวัดกาญจนบุรี กับเส้นทางหลักที่ตรงยาวๆ ให้ใช้ขุมพลัง 4 สูบที่นุ่มนวล ตามด้วยทางโค้งแคบๆ ทางเขาต่างๆ ของเขื่อนศรีนครินทร์ รวมไปถึง ทางดิน ลูกรัง ให้ปั่นล้อกันอย่างสนุก (เอ่อ เอาอีกแล้ว พาไปนอกลู่นอกทางอีกแล้ว !!!) พร้อมกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดแดดเปรี้ยง ไปจนถึงหนาวเปียกกับฝนกระหน่ำ จนนับได้ว่า “ครบครัน” กับทุกการใช้งานในการเดินทางท่องเที่ยวของบ้านเราหล่ะครับ !!! (ยกเว้นลุยป่าน้า บอกตรงๆ กลัวทำรถเค้ากลิ้ง !)
หัวข้อในการรีวิวครั้งนี้ขอแบ่งเป็นตามนี้เลยครับ เพื่อความครบถ้วน ที่สำคัญกันผมออกนอกลู่นอกทาง
- รูปลักษณ์ทั่วไป
- รายละเอียดทางเทคนิค – สเปคตัวรถที่น่าสนใจ
- รายละเอียดทางเทคนิค – มาย่อยเรื่องโหมดการขับขี่กัน
- สัดส่วนคน และรถ
- การขับขี่ในสภาพถนนต่างๆ
- อัตราสิ้นเปลือง
- ข้อดี/ข้อสังเกตต่างๆ
- น่าจะเหมาะกับ
- สรุป
สำหรับพื้นฐานของเครื่องยนต์ของ S 1000 XR นั้นมาจากขุมพลังแบบ 4 สูบเรียงที่ในปัจจุบันนี้ทาง BMW ได้นำมาบรรจุไว้ในรถของตัวเอง 3 รุ่นด้วยกัน นั่นคือ
- BMW S 1000 RR หรือสปอร์ตที่แสนสนุกที่มีชื่อเล่นติดปากกันว่า “ฉลาม”
- BMW S 1000 R ที่ต้องเรียกว่านี่คือ “สปอร์ต” ที่ถูกจำแลงกายลงมาในรูปลักษณ์ของ Naked
- BMW S 1000 XR ในวันนี้ที่พลิกการขับขี่ไปในอีกรูปแบบนึง
Review ที่ผ่านมากับ S 1000 RR, S 1000 R, R 1200 GS, R 12000 GSA ตามนี้เลยครับ
REVIEW : BMW S1000 RR บนทุกรูปแบบของการใช้งานจริง
REVIEW : BMW S1000 R – SPORT จำแลงกายบนท้องถนน กับการเดินทางจริง
REVIEW : BMW R1200 GS บนเส้นทางการเดินทาง ที่ธรรมชาติจะรังสรรค์ให้
REVIEW : BMW R1200 GSA แล้วมาเจอกันที่ปลายทางบนเส้นขอบฟ้า พร้อมเทียบ GS/GSA
แบบคลิปเคลื่อนไหวได้ที่นี่เลย
รูปลักษณ์ทั่วไป
บางทีก็ไม่เข้าใจทำไมขี่รถที่มีคำว่า “Adventure” ทีไร … ต้องเจอฝนให้ “เปียก” ทุกทีเลย !
[รูปซ้าย] มากับประกับไฟซ้ายที่มาพร้อมออฟชั่นจัดเต็มตามนี้เลย
- สวิตช์ไฟ pass (ดึงเข้า) หรือเปิดไฟสูง (ผลักออก)
- สวิตช์ควบคุม Cruise Control ที่ใช้งานง่ายมาก
- สวิตช์ปิด เปิด ระบบไฟหน้าอัตโนมัติ
- ไฟ hazard หรือไฟผ่าหมากที่เราเรียกติดปาก
- สวิตช์ Trip เพื่อแสดงข้อมูลการขับขี่ (ระยะทางรวม-ODO / Trip 1 / Trip 2 / อัตราสิ้นเปลือง / ระยะทางที่วิ่งได้ / ความเร็วเฉลี่ยของการเดินทาง)
- สวิตช์ Info เพื่อใช้เข้าถึงการตั้งค่าต่างๆ (Lap Timer / Race Info / Setup Menu)
- สวิตช์ควบคุมการทำงานของ ABS / ASC
- สวิตช์ปรับระบบ Dynamic ESA (หรือโช็คไฟฟ้านั่นเอง)
- สัญญาณไฟเลี้ยว
- แตร
- ประกับควบคุม GPS !!! (ต้องใช้ของ BMW เท่านั้นนะครับ ในการเชื่อมต่อกับ Dial อันนี้) โดยประกับตัวนี้สามารถ หมุนขึ้น-ลง โยกซ้าย-ขวา และกดได้อีกนั่น
[รูปขวา] ส่วนในด้านประกับไฟทางด้านขวา ง่ายๆครับ
- สวิตช์ควบคุม Heat grip 2 ระดับ ที่ฟินนักเวลาเดินทางแล้วเจอฝนตก
- สวิตช์เลือก Mode การขับขี่
- Off-Run / Start
[บนซ้าย] กับถาดยึด GPS ของทาง BMW แต่ทั้งนี้ตัวถาด “ไม่เหมือนกับของ R 1200 GS/GSA” นะครับ โดยถาดยึดของ S 1000 XR นั้นไม่สามารถล็อค GPS กับถาดยึดได้ ถ้าจอดเปลี่ยวๆหล่ะก็ ถอดออกมาเก็บกันด้วยนะครับ !!
[ล่างซ้าย] S 1000 XR มาพร้อมกับ “ขาตั้งคู่” ที่เสริมคาแรคเตอร์ของรถว่า พร้อมจะให้พาไปในทุกที่ และเซอร์วิสได้ง่ายๆทั้นทีด้วยการ “ยกล้อลอย”
[บนขวา] ตำแหน่งปลดเบาะผู้ขับขี่ และคนซ้อนที่ซ่อนอยู่ด้านหลัง (หากันนานเลยทีเดียว)
[ล่างขวา] แร๊คกระเป๋ามาตรฐานที่ติดกับกระเป๋าแบบ Vario (พลาสติก) จากทาง BMW ได้ทันที
[บนซ้าย] นับได้ว่าเป็น “จุดเด่น” อย่างนึงของ S 1000 XR ที่มาพร้อมกับ “Pro Shift Assistant” หรือการเปลี่ยนเกียร์ได้ “ทั้งขึ้น และลง” โดยไม่ต้องใช้คลัตช์
[บนขวา] กันสะบัดแบบธรรมดา ที่ติดมากับตัวรถจากโรงงานเลย
[กลางขวา] ปั๊มเบรคหลังจากทาง BMW พร้อม ABS
[ล่างขวา] ปั๊มเบรคหน้าของ Brembo พร้อมจานเบรคขนาด 320 แบบดูโอ้
รายละเอียดทางเทคนิค กับสเปคของตัวรถที่น่าสนใจ
นอกจากนั้นมาดูรายละเอียดของระบบไฟฟ้าที่บรรจุลงมาใน S 1000 XR คันนี้กันสักนิด
รายละเอียดทางเทคนิค – มาย่อยเรื่องโหมดการขับขี่กัน
คันนี้ครบระยะ Service 1000 km ระหว่างการเดินทางพอดี สังเกตุจากหน้าปัทม์ที่แสดง “Service!” พร้อมไฟสัญญาณสีส้ม “!” เตือนนะครับ
กับระบบในการปรับตั้งโหมดในการขับขี่ต่างๆของ BMW S 1000 XR นั้น นับได้ว่า “เพียบ” จนถึงกับต้องแยกออกมาเป็นหัวข้อเลยทีเดียว มีอะไรบ้างตามนี้เลยครับ
- โหมดในการขับขี่แบบ 3+1 (Rain / Road / Dynamic และ Dynamic Pro ที่ต้องทำการเสียบปลั๊กเพิ่ม – ทำยังไงปรึกษา BKK Motorcycle เลย)
- การตอบสนองของช่วงล่างที่ปรับตั้งได้อีก 2 ระดับ คือ Road / Dynamic
- การปรับตั้งน้ำหนักบรรทุกอีก 3 ระดับ นั่นคือ ผู้ขับขี่ / ผู้ขับขี่ และสัมภาระ / ผู้ขับขี่ และคนซ้อน รวมสัมภาระ
ที่สำคัญ โหมดทั้ง 3+1 โหมดนั้น จะทำการปรับ แรงบิดของเครื่องยนต์ การตอบสนองของคันเร่ง ความละเอียดในการทำงานของ ABS, ASC/DTC และ Dynamic ESA ที่เหมาะสมตามโหมดต่างๆให้เองอีกด้วย ซึ่งก็จะคอยปรับตั้งให้เหมาะสมกับสภาพถนนตลอดเวลา บ่อยแค่ไหน? ก็ประมาณ 10 ครั้งใน 1 วินาทีเองครับโผม !! สรุปอีกรอบแบบตารางง่ายๆกันดีกว่า
สัดส่วนคน และรถ
เช่นเคยกับผม “ทองม้วน” พร้อมสัดส่วนในแนวตั้งที่ไม่เปลี่ยนแปลงซักทีกับความสูงที่ 163 cm “ปลายเท้า” เลยครับกับ S 1000 XR คันนี้ ด้วยเบาะที่สูง 840 mm และน้ำหนักรถที่ 228 kg
แต่สิ่งนึงที่รถจากทาง BMW ในยุคนี้ทำได้ดีคือ การวางน้ำหนักรถที่ให้ความรู้สึกที่ค่อนข้างเบากว่ารถในสมัยก่อน การยกรถขึ้นตั้งตรงทำได้ง่าย หรือถ้าให้ดีก็ อาศัยการผ่อนแรงช่วย ได้นะครับโดย
- ขณะที่รถตั้งขาตั้งข้างให้หักล้อออกทางขวา
- เหยียบพักเท้าขึ้นไปเลย หรือจะเรียกว่า “ปีน” รถก็ว่าได้
- วางเท้าซ้ายให้เต็มพื้น
- กำเบรคหน้าไว้ แล้วขย่มโช็คหน้าลง
- ผลักแฮนด์ไปด้านหน้า พร้อมปล่อยเบรคหน้า
โช็คหน้าที่เด้งคืนตัวจะช่วยให้รถดีดขึ้นมาตั้งตรงได้ง่ายขึ้น !! แต่ทั้งนี้ก็ฝึกบ่อยๆหาคนช่วยจับก็ดีนะครับ เดี๋ยวจะพลิกไปด้านขวาหล่ะจะหาว่าผมไม่เตือน !
ส่วนเจ้าน้องคนนี้พกสัดส่วนมาที่ 176 cm … “ครึ่งเท้า สบายๆฮะ” ยกรถตั้งตรงแบบชิวๆ เรียกได้ว่า … ใช่สิ ทีใครทีมัน !
การขับขี่ในสภาพถนนต่างๆ #ฝ่าการจราจร
ก็แหม่ใช่ว่าเราจะขับขี่กันแค่เดินทางอย่างเดียว ก่อนจะออกไปเดินทาง หรือขากลับบ้านกันเนี่ยแหล่ะครับ “ลุยรถติด” กันทุกที
ด้วยพื้นฐานของเครื่องยนต์แบบ 4 สูบเรียงที่เพียงปล่อยคลัตช์ก็ไหลยาวๆแล้วจ้า ทำให้การนำพาเจ้า BMW S 1000 XR มาฝ่าการจราจรนั้นค่อนข้างจะต้อง “กำคลัตช์” เยอะสักนิด จนอาจจะเมื่อยนิ้ว แต่ยังดีครับที่คลัตช์ของเค้าค่อนข้างนุ่มมือพอสมควร สำหรับผมช่วงรถติดก็กำคลัตช์ไปเลย 4 นิ้วเต็มๆ (จากปกติ 2 นิ้ว) ก็ผ่อนแรงลงไปได้เยอะ
การเปิด-ปิดคันเร่งในการจราจรติดขัดบนพื้นฐานของเครื่องยนต์แบบ 4 สูบเรียงที่ปรับลดแรงม้า แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือ แรงบิดที่สม่ำเสมอให้ย่านกำลังที่กว้างแบบนี้ ทำให้การเปิด-ปิดคันเร่ง นิ่มนวลดี แต่จะมาแบบช้านิดๆรอนิดนึง ไม่เหมือนอย่าง R 1200 GS ที่เปิดแล้วมาทันทีนะครับ แต่กับ S 1000 XR ช่วงแรงบิดกว้างๆ ทำให้คาดเดาถึงแรงบิดที่จะส่งออกมาได้ง่าย การเดินคันเร่งทำได้อย่างต่อเนื่องสบายๆ
การ์ดแฮนด์ขนาดใหญ่อลังการของ S 1000 XR CKD ผสานกับกระจกมองข้างที่ทัศนวิสัยดีเยี่ยมนั้น นับได้ว่าช่าง พอดิบพอดีกับกระจกรถยนต์ทั่วไปซะจริงๆ แต่เดี๋ยวก่อนการวางน้ำหนักของ XR ที่ทำได้ดีมากที่ผสานกับแฮนด์กว้างๆ ยังพอจะช่วยให้เราสามารถโยกรถไปมาได้ค่อนข้างง่าย ไหลไปได้เรื่อยๆ ตามการจราจรเช่นกัน แต่ถ้าเจอกระจกรถยนต์เสมอกันหล่ะก็ แป๊กครับ หาช่องจอดเสียบหลบให้คนอื่นได้ไปต่อเลยดีกว่า
จากที่เคยคิดว่าวงเลี้ยวของรถคันขนาดนี้ต้องกว้างมากแน่ๆเลย … ผิดคาด … เพราะวงเลี้ยวของ S 1000 XR แคบมาก การหักรถไปตามช่องแคบๆต่างๆ กลับทำได้ง่ายดาย ขัดกับสรีระที่ดูใหญ่โตของตัวรถมากเลยทีเดียว การกลับรถแคบๆ ใช้เพียง 1 ช่องทางกลับรถปกติก็ทำได้ง่ายๆ (แต่อย่าเซนะครับ มีแปะได้ง่ายๆเลย ยิ่งขายาวๆแบบผมเนี่ย)
ความร้อนของตัวรถ ถ้าเทียบกับ S 1000 RR / R ที่ใช้พื้นฐานเครื่องยนต์เดียวกันแล้วหล่ะก็ S 1000 XR จัดว่า “อุ่นๆ” ไม่ได้ร้อนมากมายอะไรครับ ใช้งานในการจราจรติดขัดได้สบายๆ แต่ก็ร้อนกว่าพวกสายลุยอย่าง R 1200 GS พอสมควรเหมือนกัน
โหมดที่แนะนำ Road ทางแห้ง / Rain ทางเปียก
ระบบกันสะเทือน Road
Preload ตามการใช้งาน – 1 คน / 2 คน+สัมภาระ / 1 คน + สัมภาระ
ABS / DTC เปิดไว้เถอะครับสบายใจดี
การขับขี่ในสภาพถนนต่างๆ #เดินทางไกล
ไฟหน้าอัตโนมัติที่ทำการสลับเองระหว่าง DRL (Daytime Running Light) และไฟต่ำปกติ ตามสภาพแสง ณ ตอนนั้น (มีเซนเซอร์อยู่ตรงเรือนไมล์)
สิ่งที่ BMW S 1000 XR ถูกสร้างขึ้นมาก็เพื่อการเดินทางไกลๆ บนทางดำ หรือถนนหลักแบบนี้แหล่ะครับ การเดินทางยืนพื้นไปเรื่อยๆ ด้วยความเร็วเดินทาง 100-120 km/hr ทำได้สบายๆ รอบเครื่องยนต์อยู่ที่ประมาณ 4,000 – 5,000 rpm ซึ่งเป็นย่านที่กำลังนุ่มนวล ไหลไปได้เรื่อยๆเลยทีเดียว การเร่งแซงแบบทันที่บนเกียร์ 6 ทำได้ค่อนข้างดี แต่ถ้าจะให้เร่งได้ทันใจหล่ะก็ ตบเกียร์ลงนิดนึงให้ได้รอบซัก 7,000 – 8,000 rpm หล่ะก็ พุ่งทะยานออกไปได้แบบรถสปอร์ตเลยเหมือนกัน
พื้นฐานช่วงล่างของ S 1000 XR ที่ปรับตั้งด้วยตัวเองตามสภาพถนนจากระบบ Dynamic ESA ทำให้สามารถพาไปได้บนทางเรียบในบ้านเราแบบสบายๆ แต่ทั้งนี้ด้วยการวางตัวเองว่าเป็นรถ Adventure Sport ที่ให้การตามติดของช่วงล่างที่ดี และ “แน่น หนึบ” กับถนน ทำให้สำหรับผมที่น้ำหนัก 65 kg จะรู้สึกว่า “กระด้างไปนิดนึง” แต่ถ้าน้ำหนักตัวประมาณ 80 kg ขึ้นไปหล่ะก็ พอดีเป๊ะ !
สวัสดีครับ!
ชิวบังลมหน้าปรับตั้งได้ 2 ระดับ (ต่ำ-สูง) แบบอัตโนมือ คือมือเนี่ยแหล่ะครับดึงขึ้นลงเลย จบ … (เอ้า !) สำหรับการเดินทางยาวๆตั้งสูงเลยครับ กับสัดส่วน 163 cm ลมพ้นหัวสบายๆ แต่ถ้าสูงซัก175 cm ขึ้นไป ลมจะพอดีๆ กับช่วงหมวก อาจต้องก้มหลบนิดนึง การจัดการลมช่วงลำตัว และขาของผู้ขับขี่บน S 1000 XR ทำได้ดีมาก ช่วงขาแทบไม่รู้สึกถึงแรงลมที่เข้ามาปะทะเลย การ์ดแฮนด์ขนาดใหญ่ก็เช่นกัน ที่ทำให้การวางมือทำได้สบายๆ ไม่มีแรงต้านของลมมาทำให้เราต้อง “เย่อ” กับรถ
เสริมเข้ามาอีกขั้นนึงคือ Cruise Control ที่ทำงานในย่านความเร็วกว้างมากคือ 20 -210 km/hr ทำให้ช่วยผ่อนมือได้เรื่อยๆ เวลาที่เราใช้ความเร็วเดินทางนานๆ
Pro Shift Assistant หรือ quick shift ของ BMW ที่ทำงานได้ทั้ง “ขึ้น และลง” เพิ่มความสบายในการขับขี่ให้อีกขั้นนึง การเปลี่ยนเกียร์ของ S 1000 XR ทำได้นุ่มนวล และให้กำลังที่ต่อเนื่องคนซ้อนแทบไม่มีอาการเด้งหน้า เด้งหลัง สำหรับผมเอง Pro Shift Assistant ของ S 1000 XR ทำงานได้นุ่มนวล และต่อเนื่องกว่า S 1000 RR/ R มากเลยทีเดียว
โหมดที่แนะนำ Road – Dynamic ทางแห้ง / Rain ทางเปียก
ระบบกันสะเทือน Road
Preload ตามการใช้งาน – 1 คน / 2 คน+สัมภาระ / 1 คน + สัมภาระ
ABS / DTC เปิดไว้เถอะครับสบายใจดี
การขับขี่ในสภาพถนนต่างๆ #โค้งเขาทางชัน, ลูกรัง
“เนียนนุ่ม” และ “พริ้วไหว” ตามโค้งต่างๆ ได้อย่างสบายๆ ไปกับ BMW S 1000 XR
สรีระของรถที่มาในรูปทรงของรถ Adventure ที่มากับแฮนด์บาร์กว้างๆ ทำให้ผู้ขับขี่สามารถพาเค้าไปตามเส้นทางต่างๆ ได้ง่ายๆ ผลักแฮนด์ไปมาเบาๆ ก็พร้อมที่จะพลิกรถเข้าโค้งต่อเนื่องได้โดยไม่ต้องใช้ความพยายามอะไร
ผสานกับพื้นฐานเครื่องยนต์แบบ 4 สูบที่ปรับให้มีย่านของแรงบิดกว้างๆ ยิ่งทำให้การเดินคันเร่งไปตามทางโค้งแคบๆ โค้งชันๆ ต่างๆ ทำได้ง่าย เชื่องมือ และนุ่มนวลมาก … มากขนาดที่คิดในใจว่า “อ้าว หมดทางโค้งแล้วเหรอ กำลังสบายเลย !!!”
Pro Shift Assistant บน BMW S 1000 XR คันนี้ “น่าประทับใจมาก” การเพิ่มเกียร์ ลดเกียร์โดยไม่ต้องใช้คลัตช์ บนเส้นทางโค้งชันต่อเนื่องแบบนี้ทำได้อย่างนุ่มนวลมาก เช่นในขณะที่ผมกำลังจะเอียงรถเพื่อที่จะเข้าโค้งลงเขา สามารถตบเกียร์ลงเพื่อใช้ engine ชะลอรถได้อย่างสบายๆ โดยที่รถไม่เสียอาการ และเดินคันเร่งออกจากโค้งพร้อมงัดเกียร์ขึ้นต่อเนื่องได้แบบสบายๆ เลยเช่นกัน … “เนียนมาก”
โหมดที่แนะนำ Road – Dynamic – Dynamic Pro บนทางแห้ง / Rain ทางเปียก
ระบบกันสะเทือน Road – Dynamic ทางเรียบเนียน
Preload ตามการใช้งาน – 1 คน / 2 คน+สัมภาระ / 1 คน + สัมภาระ
ABS / DTC เปิดไว้เถอะครับสบายใจดี
Adventure Sport มามะ มาลองเล่นกันบนทางลูกรังสักนิด
แม้ว่า BMW S 1000 XR จะมากับพื้นฐานเครื่องยนต์แบบ 4 สูบเรียง ที่มักจะให้แรงบิดที่ช่วงกลางๆไปแล้ว ซึ่งอาจจะไม่เหมาะกับการใช้งานในการปั่นรถออกจากทางลูกรังที่ต้องการแรงบิดที่ช่วงต้นสูง แต่ด้วยความจุขนาด 1000 cc พร้อมการปรับแรงบิดให้กว้างตลอดช่วง ของ S 1000 XR คันนี้ทำให้ใช้งานในทางลูกรังได้สบายๆครับ
ด้วยโหมด Road ที่มีการทำงานของ DTC (Dynamic Traction Control) อย่างเต็มระบบ ทำให้ผมเองสามารถ “เปิดคันเร่งให้สุด” ไปบนทางลูกรังได้ง่ายๆ ที่เหลือ DTC จะเป็นตัวช่วยคอย ตัด-ต่อ การส่งกำลังไปที่ล้อหลังให้เอง เรียกได้ว่านี่เรากำลังเปิดคันเร่งแบบหมดปลอกหมดทางลูกรังอยู่นะ แทบจะไม่มีอาการปั่นฟรีเลย!
แต่ถ้าผู้ขับขี่ชำนาญการขับขี่ในแบบ Enduro ก็ใช้ Dynamic / Dynamic Pro เลยครับ คราวนี้หล่ะ ASC / DTC จะทำงานน้อยลง และยอมให้มีการปั่นล้อหลังทิ้งได้เยอะขึ้น หรือถ้าติดหล่มโคลน ลุยลำธาร ก็ “ปิด” การทำงานซะดีกว่าสบายใจดี ไม่งั้นล้อหลังหยุดปั่นตอนกำลังลุยน้ำหล่ะก็อาจจะเงิบจนเปลี่ยนจาก รถไปเป็นเรือดำน้ำ แล้วจะฮาเงิบกัน
ทั้งนี้ “ข้อควรระวัง” กับ S 1000 XR คันนี้ที่ มากับระบบระบายความร้อนด้วยของเหลว มีการวางตำแหน่งของหม้อน้ำ และออยคูลเลอร์ คล้ายกับรถสปอร์ต นั่นคือ “ต่ำ” พร้อมด้วยบังโคลนหน้าที่ไม่ค่อยจะช่วยบดบังครีบหม้อน้ำบางๆเลย ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการโดนหินดีดเข้าไปทำร้ายได้มากเลยทีเดียว ถ้าต้องวิ่งผ่านอุปสรรค ทางหิน ดินหล่ะก็ ใช้ความเร็วต่ำๆนะครับ หรือไม่ก็เสริมการ์ดหม้อน้ำเพิ่มสักนิดเพื่อความสบายใจของเรา
โหมดที่แนะนำ Road สบายเวอร์ Dynamic / Dynamic Pro ตามอารมณ์
ระบบกันสะเทือน Road
Preload ตามการใช้งาน – 1 คน / 2 คน+สัมภาระ / 1 คน + สัมภาระ
ABS / DTC เปิด หรือปิด ตามสภาพเส้นทาง
อัตราสิ้นเปลือง
ระยะทางรวมทั้งหมดที่ได้ขับขี่ไปอยู่ที่ 561.7 km และใช้น้ำมันไปทั้งสิ้น 36.46 litre ทำให้ได้อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยกับการใช้งานที่หลากหลายอยู่ที่ 15.40 km/litre ก็จัดได้ว่ากลางๆ ไม่เยอะ ไม่น้อยหล่ะครับ แต่ถ้าขับขี่ช่วงรถติดๆนี่น่าจะกินกว่านี้พอสมควรเลยเหมือนกัน
ข้อดี / ข้อสังเกต / ข้อเสีย
ข้อดี
- Pro Shift Assistant คือจุดแข็ง! การเปลี่ยนเกียร์ขึ้น-ลง นิ่มนวล ต่อเนื่องมาก
- ABS / ASC ทำงานละเอียดมาก ยอมรับให้คนขี่ผิดพลาดได้ค่อนข้างสูง
- ระบบไฟฟ้าที่มีมาให้ ช่วยให้ผู้ขับขี่เดินทางได้ “ปลอดภัย” ขึ้นมากเลยทีเดียว สำหรับผมรู้สึกได้ว่าการขับขี่เดินทางไปบน BMW S 1000 XR คันนี้เป็นรถที่ “ล้มยาก” และ “พลาดยาก”
- วงเลี้ยว การคอนโทรลรถในวงแคบทำได้ง่ายมาก
- ABS ทำงานได้ละเอียดในโหมด Rain / Road ทำให้ผู้ขับขี่กดเบรคได้ “เต็มๆ” แบบไม่ต้องกังวล
- มีกันสะบัดติดมาให้ แม้จะไม่ได้ดีมาก แต่ก็ค่อนข้างเพียงพอกับการใช้งานทั่วไป บนการเดินทางแล้วหล่ะครับ
- แม้จะมีเบาะสูงถึง 840 mm แต่การวางน้ำหนักของรถทำได้ดี การยกรถน้ำหนัก 228 kg คันนี้ตั้งตรงทำได้ง่ายพอสมควรเลยทีเดียว
- ทำความเร็วเดินทาง และใช้งานความเร็วสูงได้ดีมาก เสถียรภาพของรถดีมาก รอบการทำงานของเครื่องยนต์เหมาะสมกับการเดินทางบนถนนหลักดี
ข้อสังเกต / ข้อเสีย
- แฮนด์สั่นเบาๆที่รอบของแรงบิดช่วงประมาณ 4,000 – 6,000 rpm และจะสั่นให้รู้สึกได้มากในช่วง 6,000 – 7,000 rpm ถ้ากำแฮนด์แน่นเกินไป เดินทางยาวๆ มีมือชาได้เหมือนกัน แต่ตรงนี้ก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรมาก ผ่อนคลายมือบ่อยๆ พร้อมกับการใช้ Cruise Control ช่วยได้เยอะครับ
- ชิวบังลมหน้าปรับได้ 2 ระดับ ซึ่งอาจจะไม่ละเอียดพอสำหรับสรีระของผู้ขับขี่ที่แตกต่างกัน สำหรับผมเองพอดีๆ แต่ถ้าสัดส่วน 175 cm ขึ้นไป อาจจะอยากให้สูงขึ้นอีกนิดนึง
- กันสะบัดแบบธรรมดาที่ติดมา ทำงานได้ค่อนข้างดีกับการใช้งานบนถนน แต่ถ้าเจอรอยต่อของถนนที่ไม่เรียบ แล้วไปเปิดคันเร่งตรงนั้นพอดีหล่ะก็ ชกมวยได้เหมือนกัน
- หม้อน้ำ และออยคูลเลอร์ที่วางตำแหน่งค่อนข้างต่ำ และไม่มีการ์ดมาให้จากโรงงาน ติดเพิ่มหน่อยก็สบายใจดีนะครับ
- ถาด GPS ล็อคไม่ได้ !! แหม่เวลาจอดรถแล้ว ก็ถอดเก็บกันด้วยหล่ะครับ
น่าจะเหมาะกับ
น่าจะเหมาะกับ
- ชอบอารมณ์ของเครื่องยนต์แบบรถสปอร์ต แต่อยากนั่งสบาย
- เดินทางไกลสบายๆ บนถนนหลัก หรือจะไปเจอถนนรองก็ยังไปได้เรื่อยๆ
- ชอบที่จะปรับตั้ง หรือเล่น กับตัวรถแบบง่ายๆ ผ่านระบบไฟฟ้าต่างๆของตัวรถ
- เดินทางพร้อมคนซ้อน และสัมภาระ ไปบนแรงบิดที่กว้างๆ และต่อเนื่องสบายๆ
- ผู้ขับขี่ที่ชอบรถที่เชื่องมือ และมีระบบความปลอดภัยที่เข้ามาช่วยผู้ขับขี่อย่างครบครัน
สรุป
BMW S 1000 XR นับได้ว่าเป็นการผสานเครื่องยนต์ที่ “สปอร์ตที่สุด” ของทาง BMW มารวมกับท่านั่งในการขับขี่ที่ “สบาย” จนสร้างคาแรคเตอร์รถของตัวเองขึ้นมา เพื่อตอบสนองกับเพื่อนๆที่ชอบอารมณ์ “หวาน” ของเครื่องยนต์ แต่ก็เริ่มที่จะ “ติดสบาย” มากขึ้นไปกับการเดินทาง
ขุมพลังขนาด 1000 cc ที่ใช้ร่วมกันของ S 1000 RR / R และ XR ได้รับการปรับให้เหมาะสมกับการใช้งานแต่ละรูปแบบเป็นอย่างดี ระบบเบรคที่ให้มาบน XR จัดได้ว่าเหลือๆ ให้ระยะหยุดที่มั่นใจได้ บนความเร็วที่เหมาะสม
อุปกรณ์มาตรฐานติดรถมาให้ครบครันทั้งการ์ดแฮนด์ กันสะบัด แร็คกระเป๋าบน-ข้าง ขาตั้งคู่ รวมไปถึงระบบไฟฟ้าต่างๆอีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็น ABS, ASC, DTC, Dynamic ESA รวมไปถึง Pro Shift Assistant ทั้งหมดทั้งมวลทำให้ผู้ขับขี่ สามารถเดินทางได้อย่าง “สนุก และปลอดภัย” มากขึ้น บนการใช้งานทั่วไป
Pro Shift Assistant ที่ติดตั้งมาบน XR ทำงานได้เนียนนุ่ม และส่งกำลังได้อย่างต่อเนื่อง จนทำให้ “ประทับใจมาก” การเดินทางบนเส้นทางโค้งเขาต่างๆ ทำได้คล่องตัว และเปลี่ยนเกียร์ได้อย่างนิ่มนวล โดยที่ไม่ทำให้รถเสียอาการเลย
พื้นฐานของช่วงล่างที่เซทมาสำหรับทางเรียบ และตอบสนองต่อทางโค้งต่างๆได้เป็นอย่างดี สำหรับน้ำหนักผมที่ 65 kg อาจจะแข็งไปสักนิด แต่ถ้าน้ำหนักตัวที่ประมาณ 80 kg หล่ะก็กำลังดีเลย การปรับน้ำหนักบรรทุก และการตอบสนองของช่วงล่างทำได้ง่ายผ่าน Dynamic ESA ทำให้การเดินทางคล่องตัวมากขึ้นพอสมควร
สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณ BKK Motorcycle พระราม 3 สำหรับ BMW S 1000 XR สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
BMW Motorrad Authorized Dealer.
89 Industrial Ring Road Chongnonsi , Yannawa, Bangkok, Thailand 10120
Tel +66(02) 683-0585-86
http://facebook.com/bkkmotorcycle
ขอขอบคุณ Dirtshop ที่เอื้อเฟื้ออุปกรณ์ขับขี่ให้เราใช้ในการเดินทางจริง !
ติดตามกับผลิตภัณท์คุณภาพจาก Spidi Official Thailand ได้ที่นี่เลย
DJI Store Thailand ตัวแทนจำหน่าย DJI อย่างเป็นทางการในประเทศไทย
ชั้น 2 The Crystal Park phase 3
Comments